รายงานข่าว เปิดเผยว่า วันที่ 10 สิงหาคม 2563 นายกวิน กาญจนพาสน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วย นายรังสิน กฤตลักษณ์ กรรมการบริหาร และผู้อำนวยการใหญ่สายปฏิบัติการ นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหาร นางสาวรัชนี แสนศิลป์ชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอก สมาร์ทการ์ด ซิสเทม จำกัด และ ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยี พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่าง สจล., บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท บางกอก สมาร์ทการ์ด ซิสเทม จำกัด โดยมี นายสุรยุทธ ทวีกุลวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่สายการเงิน บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ดร.ชัยศักดิ์ ศรีเศรษฐนิล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บีทีเอส อินฟราสตรัคเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และรองศาสตราจารย์ ดร.คมสัน มาลีสี รองอธิการบดีอาวุโส สจล. ร่วมเป็นสักขีพยาน ที่ โรงแรมยู สาทร กรุงเทพฯ
นายกวิน เปิดเผยว่า การร่วมลงนามในครั้งนี้ บริษัทมีส่วนร่วมในการศึกษาความเป็นไปได้ในการนำระบบรถไฟฟ้าล้อยาง (Tram Bus) มาใช้เป็นครั้งแรกของประเทศไทย เป็นการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะระบบรางขนาดรอง เชื่อมต่อพื้นที่ภายในสถาบันการศึกษา กับระบบขนส่งมวลชนหลัก รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ สถานีลาดกระบัง เป็นการนำความรู้และประสบการณ์ทางระบบรางที่มีมามากกว่า 20 ปี ผนวกกับความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีโดยเฉพาะ ระบบ E-Payment และ Non-Payment ผ่านบัตรแรบบิท ที่สามารถเชื่อมต่อกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ภายใต้ความร่วมมือนี้จะทำให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้ เข้าถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่จากประสบการณ์จริง นอกจากนี้ยังจะเป็นโอกาสอันดี ที่ทางบริษัทฯ จะได้แลกเปลี่ยนความรู้ด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับระบบขนส่งมวลชน และระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงฟังก์ชันการใช้งานด้านดิจิทัลอื่นๆ กับสจล. ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่มีองค์ความรู้ มีผลงานวิจัยมากมาย และยังสามารถนำมาใช้ในการศึกษาเพื่อนำไปสู่การเรียนการสอนในชั้นเรียนได้อีกด้วย
ศ. ดร.สุชัชวีร์ กล่าวว่า การเดินทางภายในบริเวณสถาบัน และเขตชุมชนใกล้เคียง ปัจจุบันเป็นปัญหาอย่างมากเนื่องจากมีทางรถไฟวิ่งผ่านกลางสถาบันฯ มีผู้โดยสารเดินทางมา ขึ้นลงจำนวนมาก ประชาชนนำรถยนต์ส่วนตัวออกมาขับขี่ แทนการใช้ระบบขนส่งมวลชน ทำให้ในช่วงเวลาเร่งด่วนเช้า – เย็น เกิดปัญหาจราจรติดขัดเป็นเวลานาน ก่อให้เกิดการสะสมมลพิษ ส่งผลต่อสภาพแวดล้อมภายในสถาบันฯ สุขภาพของนักศึกษา และประชาชนทั่วไป โดย บีทีเอส กรุ๊ป จะได้เข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาโดยการศึกษาเส้นทาง “ระบบรถรางไฟฟ้าล้อยาง” เพื่อใช้เป็นระบบขนส่งมวลชน หลักในการเดินทางของนักศึกษา และบุคคลากรภายในสถาบัน ในการเดินทางเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนสาธารณะที่มีอยู่ในปัจจุบัน และลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว แก้ปัญหาจราจร พร้อมทั้งลดมลพิษ ภายในสถาบันให้เป็นไปตามนโยบายของทางภาครัฐ และยังสามารถตอบโจทย์ให้กับนักศึกษาซึ่งเป็นวัยรุ่นยุคใหม่ที่เน้นความรวดเร็ว และสะดวกสบายในการเดินทางเป็นหลัก
ด้านนายสุรพงษ์ กล่าวว่าสำหรับการศึกษารูปแบบระบบรถรางไฟฟ้าล้อยาง ในเบื้องต้น บีทีเอสได้ศึกษาเส้นทางที่มีความเป็นไปได้ไว้ 2 เส้นทาง เส้นทางที่1 รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ จากสถานีลาดกระบัง – หัวตะเข้ ระยะทาง 4 กิโลเมตร ประกอบด้วย 3 สถานี ได้แก่ สถานีพระจอมเกล้า และสถานีหัวตะเข้ เส้นทางที่2 วิ่งรอบภายในพื้นที่ของสถาบัน และเชื่อมต่อรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์
สำหรับรถรางไฟฟ้าล้อยาง เป็นระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ ที่ได้รับความนิยมใช้ตามเมืองหลวงต่าง ๆ ในต่างประเทศ มีลักษณะคล้ายรถโดยสารทั่วไปแต่จะทันสมัยกว่า และมีการพ่วงตู้โดยสาร โดยในรถ 1 ขบวนจะมี 3 ตู้ ซึ่งจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 250 คนต่อขบวน ใช้ความเร็วได้สูงสุด 75 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ไม่มีมลพิษเนื่องจากใช้ระบบไฟฟ้าในการขับเคลื่อน ทั้งนี้ใน 2 เส้นทางจะต้องใช้รถรางไฟฟ้าล้อยาง จำนวน 4 ขบวน ในการให้บริการซึ่งคาดว่าจะเพียงพอรองรับการเดินทางของผู้โดยสารที่ใช้บริการ ภายในสถาบันฯ และประชาชนทั่วไป โดยรูปแบบการใช้บริการสามารถใช้บัตรแรบบิทในการเดินทาง และสามารถเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนในปัจจุบันได้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามโครงการนี้ยังอยู่ในระหว่างการศึกษา และหากสามารถนำไปสู่การดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมต่อไปได้จะใช้เวลาประมาณ 2 – 3 ปี โครงการนี้จึงจะเสร็จสมบูรณ์ และเป็นระบบรถรางไฟฟ้าล้อยางแห่งแรก ที่จะวิ่งในสถาบันการศึกษาของประเทศไทยและจะเป็นต้นแบบให้กับโครงการอื่น ๆ ที่จะมีต่อไปในอนาคตได้