“การนำเข้าหมู” เป็นแนวทางที่ถูกนำเสนอโดยผู้อยู่นอกวงการหมูมาเป็นระยะ ว่าจะเป็นวิธีการแก้ปัญหาราคาเนื้อหมูแพง เพื่อให้มีเนื้อหมูเพียงพอกับความต้องการบริโภค
นับเป็นแนวทางที่ขัดแย้งกับผู้ที่อยู่ในวงการเลี้ยงหมู เพราะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของโรคต่างถิ่นที่อาจปนเปื้อนเข้ามากระทบหมูของไทย และผู้บริโภคยังมีความเสี่ยงจากการต้องรับสารอันตรายอย่างสารเร่งเนื้อแดงอีกด้วย
หากเนื้อหมูที่นำเข้ามีการปนเปื้อนสารเร่งเนื้อแดง ซึ่งเป็นสารสังเคราะห์ในกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ (Beta-Agonist) เช่น เคลนบูเทอรอล (Clenbuterol) ซัลบูทามอล (Salbutammol) และแรคโตพามีน (Ractopamine) ซึ่งเป็นตัวยาสำคัญที่ใช้ในยาบรรเทาโรคหอบ หืด ช่วยขยายหลอดลม มีฤทธิ์ช่วยกระตุ้นการเต้นของหัวใจ ช่วยให้กล้ามเนื้อมดลูกคลายตัว และช่วยให้กล้ามเนื้อขยายตัว
คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้เตือนภัยการบริโภคเนื้อแดงที่ปนเปื้อนสารเร่งเนื้อแดง ว่าหากมีการสะสมเข้าในร่างกายในปริมาณมาก จะทำให้มี อาการมือสั่น กล้ามเนื้อกระตุก ปวดศีรษะ หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ บางรายมีอาการเป็นลม มีอาการทางจิตประสาท และเป็นอันตรายมากสำหรับหญิงมีครรภ์ ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และผู้ป่วยโรคไฮเปอร์ไธรอยด์
ขณะเดียวกัน ในปัจจุบัน กรมปศุสัตว์ ห้ามใช้สารกลุ่มนี้ในการผลิตอาหารสัตว์โดยเด็ดขาด และอย. กำหนดให้อาหารทุกชนิดต้องไม่มีการปนเปื้อนสารเคมีกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ และมีการกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อให้ประชาชนได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัยตามหลักมาตรฐานสากล
ส่วนภาคผู้เลี้ยงอย่าง สิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงหมูภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บอกว่า การนำเข้าเนื้อหมู ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก และต้องพิจารณาในรายละเอียด โดยเฉพาะในประเทศทางแถบยุโรป สเปน ฮอลแลนด์ หรือรัสเซีย ที่แม้จะปลอดจากสารเร่งเนื้อแดง แต่ประเทศเหล่านี้ก็มีการระบาดของ ASF ทั้งสิ้น ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่าง จีน เวียดนาม ก็ยังมีการระบาดของ ASF ยกเว้นบริษัทใหญ่ที่มีระบบการเลี้ยงที่มีความเข้มงวดในการป้องกัน ที่หมูปลอดจากโรคนี้และไม่ได้รับความเสียหาย
การนำเสนอให้นำเข้าเนื้อหมู ชิ้นส่วน รวมถึงหมูแปรรูปจากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในแถบยุโรป จึงเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง เพราะเมื่อมีเริ่มต้นครั้งแรก ก็เป็นไปได้มากที่ไทยต้องเปิดให้นำเข้าตลอดไป และมีโอกาสที่จะส่งเข้ามาไม่จำกัด (ขนาดว่ายังไม่มีนโยบายให้นำเข้า ก็มีการลักลอบนำเข้าอย่างเป็นล่ำเป็นสัน)
นั่นหมายความว่า เกษตรกรที่มีการเลี้ยงหมูเป็นอาชีพเดียว คงถึงคราวพังราบเป็นหน้ากลอง เพราะต้องรับกับภาระขาดทุนจากภาวะหมูล้นตลาด เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้ แน่นอนว่าถ้าเวลานั้นมาถึง แม้จะเป็นอาชีพเดียวที่มี คงถึงเวลาที่เกษตรกรถอดใจพากันละทิ้งอาชีพไปอย่างแน่นอน และผู้บริโภคไม่แคล้วต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหารโปรตีนตลอดไป
การนำเข้าหมู แม้จะมุ่งประสงค์เพื่อแก้ปัญหาระยะสั้น แต่หากมองถึงผลกระทบที่อาจตามมาข้างต้น กลับกลายเป็นปัจจัยที่สร้างปัญหาในระยะยาว โดยเฉพาะกับเกษตรกรผู้เลี้ยงรายย่อยที่จะไม่มีความมั่นคงในอาชีพ ขณะที่ผู้บริโภคต้องเสี่ยงกับความไม่ปลอดภัยในอาหาร
ผลของการนำเข้าดูจะได้ไม่คุ้มเสีย ไม่ต่างกับวัวพันหลัก