นักวิชาการ ย้ำอันตรายสารเร่งเนื้อแดง เสี่ยงต่อสุขภาพคนไทย

0

นักวิชาการชีวเคมี ย้ำประเทศไทยและสหภาพยุโรป มีความห่วงใยในสุขภาพของประชาชนเป็นหลักไม่อนุญาตให้ใช้สารเร่งเนื้อแดงในการผลิตเนื้อหมู เพราะอาจเกิดผลเสียต่อสุขภาพผู้บริโภคสะสม

ดร.ศยามล สิทธิสาร อาจารย์ประจำ คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยปทุมธานี กล่าวว่า ประเทศสหรัฐอเมริกานับเป็นผู้ผลิตเนื้อหมูรายใหญ่ของโลก และอนุญาตให้ใช้ สารเร่งเนื้อแดง ได้ในปริมาณที่ควบคุมไว้ ในขณะที่ยังมีอีกหลายประเทศห้ามการใช้สารเร่งเนื้อแดงโดยเด็ดขาด รวมถึงประเทศไทยด้วย

ดร.ศยามล สิทธิสาร

ข้อมูลจากกรมปศุสัตว์ หรือ พ.ร.บ.คุ้มครองอาหารสัตว์ สารเหล่านี้ห้ามใช้ในอาหารสัตว์เด็ดขาด รวมถึง อย.กระทรวงสาธารณสุข มี พ.ร.บ. คุ้มครอง หากตรวจพบในอาหาร คือ ผิดกฎหมาย โดยสารเร่งเนื้อแดง จะส่งผลในผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรังอยู่แล้ว เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไฮเปอร์ไทรอยด์ ลมชัก ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดอาการของโรคมากขึ้น ได้แก่ หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ กระวนกระวาย วิงเวียนศีรษะ บางรายส่งผลให้เกิดกล้ามเนื้อกระตุก มือสั่น

สารเร่งเนื้อแดง เป็นสารสังเคราะห์ ในกลุ่มเบตาอะโกนิสท์ (Beta-Agonist) ในทางการแพทย์ยานี้ถูกใช้ในเรื่องช่วยขยายหลอดลมผู้ป่วย หอบหืด หลอดลมอักเสบ จุดเด่นของตัวยานี้ คือขยายหลอดลม สารกลุ่มนี้มีหลากหลายชนิด แต่ที่เกษตรกรมักจะนำมาใช้มากที่สุดคือ ซัลบูทามอล (Salbutamol) และ แรคโตพามีน (Ractopamine) ด้วยจุดประสงค์ให้หมูมีอาการตื่นตัว ออกวิ่งอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจะช่วยลดชั้นไขมันและเพิ่มปริมาณกล้ามเนื้อให้หมูมีเนื้อแดงมากขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรขายได้ในราคาดีขึ้นด้วย โดยวิธีการคือจะผสมในอาหารและน้ำดื่ม ในอาหารจะให้อยู่ประมาณไม่เกิน 10 กรัมต่อกิโลกรัมอาหารสัตว์ และเนื่องจากผสมในน้ำดื่มด้วยทำให้สัตว์ได้รับยาทั้งวัน หากผู้บริโภคเนื้อสัตว์ได้รับสารนี้สะสมไปเรื่อยๆ จะส่งผลเสียต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ป่วยที่เป็นโรคลมชัก โรคหัวใจ เพราะยามีฤทธิ์กระตุ้นการเต้นของหัวใจ

ดร.ศยามล กล่าวเพิ่มเติมว่า มีรายงานจากทางฝั่งยุโรปว่าหญิงมีครรภ์จะถูกกระตุ้นให้เกิดเนื้องอกบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ของผู้หญิง จากรายงานแม้พบสารเร่งเนื้อแดงในปริมาณเพียงเล็กน้อยหน่วยมิลลิกรัม แต่หากได้รับต่อเนื่องเรื่อยๆ เป็นเดือนหรือเป็นหลายสัปดาห์ขึ้นไป เพียงเดือนสองเดือนไม่ต้องถึงปี กลุ่มคนที่มีโรคประจำตัวอยู่จะแสดงอาการผลข้างเคียงเร็วมาก

ตอนนี้ทางฝั่งสหรัฐอเมริกายินยอมให้ใช้สารนี้ โดยการใช้สารเหล่านี้ถือเป็นสิ่งที่ทำได้ในการปศุสัตว์ หากอยู่ในความดูและควบคุมที่เหมาะสม โดยกำหนดให้ใช้ในเกณฑ์ปริมาณที่ไม่ส่งผลอันตรายก็ยอมรับได้ แต่สำหรับประเทศไทยและสหภาพยุโรป มีความห่วงใยในสุขภาพของประชาชนเป็นหลัก จึงไม่อนุญาตให้ใช้สารนี้เลย โดยให้ตรวจพบเป็นศูนย์ได้เท่านั้น

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการโครงการมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (Codex Alimentarius Commission : Codex) ได้กำหนดปริมาณมาตรฐานสากล ในการตกค้างสูงสุด ( Maximum Residue Limits (MRLs)) ในเนื้อและไขมันไว้ว่าต้องค้างไม่เกิน 10 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ในตับไม่เกิน 40 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม และในไตไม่เกิน 90 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งถือเป็นระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ แต่ในขณะที่หลายประเทศไม่ยอมรับค่า MRLs ที่ Codex กำหนด โดยอาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพในระดับที่ยอมรับไม่ได้

สำหรับประเทศไทย จากการศึกษาข้อมูลผู้บริโภค พบว่านิยมบริโภคทั้งเนื้อหมู เครื่องในหมู และเลือดหมู จึงอาจมีความเสี่ยงที่จะได้รับสารตกค้างเกินกว่าค่าที่ Codex กำหนด ดังนั้น การคำนึงถึงสุขภาพของคนไทยในระดับสูงสุดจึงเป็นเรื่องที่สำคัญกว่าการเปิดตลาดรับหมูปนเปื้อนสารเร่งเนื้อแดงเข้ามา.