ท่องเที่ยวสายน้ำประวัติศาสตร์แห่งคลองภาษีเจริญ

คลองภาษีเจริญ เป็นคลองที่ขุดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เพื่อให้มีเส้นทางน้ำเชื่อมกับแม่น้ำท่าจีนสำหรับขนน้ำตาลและอ้อยจากโรงงานที่ตั้งอยู่แถบสมุทรสาคร โดยใช้ค่าก่อสร้าง 112,000 บาทที่นำมาจากการจัดเก็บภาษีฝิ่น การขุดคลองแล้วเสร็จในสมัยร.5 จัดเป็นเส้นทางน้ำที่มีความสำคัญด้านการค้าในสมัยอดีต คลองภาษีเจริญผ่านการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย จากอดีตที่เป็นเส้นทางสัญจรหลัก ทำให้เกิดชุมชน กิจการต่างๆ เช่น โรงไม้ สวนผลไม้ ตลาดน้ำ จนเมื่อมีมีการตัดถนนเพชรเกษม ทำให้วิถีชีวิตความเป็นอยู่และสภาพสังคมเปลี่ยนไป ผู้คนย้ายจากถิ่นฐานริมคลองเดิมหันมาจับจองพื้นที่ริมถนนแทน อย่างไรก็ตาม ตลอดเส้นทางตามคลองภาษีเจริญ เรายังเห็นร่องรอยของความเจริญและความสำคัญในอดีตที่หลงเหลือตามสายน้ำของคลองภาษีเจริญสายนี้

“ยินดีที่ได้เที่ยว” มีโอกาสดีที่ได้ล่องเรือในเส้นทางคลองภาษีเจริญ โดยมีพาหนะเป็นเรือไฟฟ้า จัดโดยคุณ“อาณัติ ปลอดโปร่ง” เจ้าของเพจเที่ยวฝั่งธนกับคนเล่าเรื่อง ซึ่งจัดทริปท่องเที่ยวคลองเป็นประจำทุกสัปดาห์ หมุนเวียนเปลี่ยนเส้นทางทุกเดือน สำหรับเส้นทางทริปล่องคลองภาษีเจริญครั้งนี้ จะล่องเรือไฟฟ้าแล่นไปแบบเอื่อยๆ ด้วยความเร็วไม่เกิน 10 กม./ชม. จากจุดเริ่มต้นที่ท่าเรือภาษีเจริญ แล่นไปจนถึงสุดเขตกทม. ที่ท่าเรือวัดหนองพะองซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อสัมผัสวิถีชาวบ้านริมคลอง สถานที่สำคัญต่างๆ ตามแนวคลองสายนี้

คลองภาษีเจริญ มีระยะทางวัดจากวัดปากน้ำไปจนถึงกระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ยาวประมาณ 26 กม. และทุกๆ ความยาว 4 กม. จะมีการปักเสาหินหลักคลอง รวมแล้วทั้งหมดจำนวน 6 เสา ปัจจุบันมีหลงเหลือให้เห็นอยู่ 2-3 เสา บางเสาก็อยู่ในเขตพื้นที่ของบ้านที่อยู่อาศัย เจ้าของบ้านเองก็ไม่รู้ว่าเสาหินที่เห็นมาตั้งนมนานคืออะไร จนเมื่อมีนักประวัติศาตร์มาสำรวจเส้นทาง จึ่งเพิ่งทราบถึงความสำคัญทาประวัติศาสตร์ของเสาหินดังกล่าว บางเสาหินที่มีสภาพสมบูรณ์ดี ก็เพราะความไม่รู้นี่แหละ ทำให้ชาวบ้านเอาผ้าหลายสีมาผูกล้อมเสา ทำให้ถูกดูแลอย่างดีผ่านกาลเวลาจนมาถึงปัจจุบันในสภาพที่สมบูรณ์กว่าเสาอื่น

เสาหินหลักคลองจะถูกเรียกเป็น หลักหนึ่ง หลักสอง นับตามไปจนครบหกเสา ซึ่งเป็นที่มาของชื่อเรียกแขวงหลักสอง ในเขตภาษีเจริญปัจจุบันนี่เอง โดยเสาหินหลักคลองหนึ่งถึงสามจะอยู่ในกทม. ส่วนเสาหินหลักคลองตั้งแต่หลักสามถึงหกอยู่ในจ.สมุทรสาคร

ตลอดระยะเวลาที่นั่งเรือล่องคลองภาษีเจริญ เราได้พบกับความสงบมาก เพราะคลองนี้ ไม่ใช่เป็นทางสัญจรนิยมของเรือท่องเที่ยว นานๆ ทีจึงจะเห็นเรือของชาวบ้านแล่นสวนมา จุดแรกที่เราแวะ คือ ท่าเรือวัดนิมมานรดี เพื่อเดินชมบรรยากาศของห้องแถวไม้ของชุมชนตลาดเก่า ซึ่งสมัยก่อน เคยเป็นตลาดน้ำ และชุมทางการค้าที่สำคัญของคลองภาษีเจริญ

เมื่อได้เวลาพอสมควร เราลงเรือเพื่อเดินทางต่อไปยังจุดหมายต่อไป ซึ่งเป็นจุดสุดเขตของกทม.ของทริปนี้ นั่นคือ ตลาดน้ำหนองพะอง ที่นี่ เราแวะขึ้นท่าเรือเพื่อพักรับประทานอาหารกลางวัน พร้อมกับมีโอกาสได้อุดหนุนของกิน ขนม ผลไม้ ของชาวบ้านในละแวกนี้

เมื่อได้เวลาเดินทางต่อ เราลงเรือแล่นวกกลับไปในเส้นทางที่มา เพื่อไปยังท่าเรือหนองแขม ชมความงามของ โรงพักเก่า หรือ สถานีตำรวจหนองแขม หลังเก่า ซึ่งสร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยปัจจุบัน ถือว่าอยู่ในสภาพสมบูรณ์ และดูแลรักษาความสวยงามไว้ได้อย่างดีเลยทีเดียว

หลังจากเดินชมความงามของสถานีตำรวจหลังนี้ เราก็ลงเรือเพื่อออกเดินทางต่อไปยังวัดม่วง เพื่อสักการะหลวงพ่อทองคำ ที่สร้างจากทองคำแท้ 90% ในอุโบสถหลังใหม่ที่ว่ากันว่า ใช้เงินก่อสร้างราว 200 ล้านบาทเลยทีเดียว ถือเป็นอุโบสถที่ใหญ่โต และสวยงาม อลังการอย่างมาก

เมื่อได้เวลา เราเดินทางย้อนกลับไปที่วัดอ่างแก้ว เพื่อชมความงามของงานจิตรกรรมฝาผนังฝีมือช่างหลวง ที่ซ่อนตัวอยุ่ในวัดราษฎร์แห่งนี้ ส่วนสาเหตุที่ทำไมงานฝีมือช่างหลวงถึงมาอยู่ในวัดชาวบ้านนั้น คุณนัทสันนิษฐานว่า หลวงพ่อที่สร้างวัดแห่งนี้ เป็นเกจิอาจารย์ที่มีคนเคารพศรัทธามาก และเดิมเป็นเจ้าอาวาสวัดนางนอง แต่มีเหตุที่ต้องออกจากวัดมาอยู่วัดโคนอน (ตรงข้ามวัดอ่างแก้ว) แล้วจึงมาสร้างวัดอ่างแก้วหลังจากคลองภาษีฯ ขุดเสร็จประมาณ 8 ปี ด้วยความที่มีพวกขุนนาง พวกพ่อค้า เลื่อมใสในตัวท่าน จึงทำให้มีเงินที่ว่าจ้างช่างที่มีฝีมือมาเขียนจิตรกรรมได้นั่นเอง

อันที่จริง ตลอดเส้นทางคลองภาษีเจริญ มีสถานที่ท่องเที่ยวอีกมาก ไว้มีโอกาสคงจะได้เดินทางมาอีกครั้งหนึ่ง สำหรับการเดินทางครั้งนี้ เราจบทริปไปด้วยความอิ่มเอมกับการนั่งเรือเที่ยวคลองที่เดินทางแบบไม่เร่งรีบ ปล่อยอารมณ์แบบเนิบๆ ผ่อนคลายดีเลยทีเดียว