ความเชื่อ และความเป็นจริง
พลาสติก เปลี่ยนเป็นบุญได้
เรามีหลากหลายวิธีที่จะลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทุกวันให้น้อยลง ซึ่งการนำขยะหลายๆชนิดกลับมาผ่านกรรมวิธี เพื่อให้สามารถนำไปใช้ใหม่อีกครั้ง ก็เป็นหนทางหนึ่ง สำหรับ การลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้น ซึ่งโครงการ “เปลี่ยนพลาสติกเป็นบุญ” (เมื่อคุณหมุนเวียน) ของ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง ซึ่งนอกจากจะลดปริมาณขยะ อย่างได้ผลดีแล้ว ยังเป็นกุศโลบายที่สอดคล้องกับความเชื่อตามแนวทางศาสนาพุทธ ของพุทธศาสนิกชน อีกด้วย
นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม(สส.) กล่าวว่า เวลานี้มีการติดตั้งจุดรับคืนขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวให้ประชาชนนำมาทิ้งกว่า 300 จุดทั่วประเทศ เช่น หน่วยงานภาครัฐทั้ง 20 กระทรวง มหาวิทยาลัย ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ซูเปอร์มาเก็ต และร้านสะดวกซื้อที่เข้าร่วมโครงการ รวมถึงหน่วยงานภาคเอกชนที่เข้าร่วมเป็นเครือข่าย
“พลาสติกที่จะนำมาคืนจะต้องสะอาดและแห้ง แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ พลาสติกยืดและพลาสติกแข็ง พลาสติกยืด เช่น ถุงหูหิ้ว ถุงช็อปปิ้ง ฟิล์มหุ้มแพ็คขวดน้ำ ฟิล์มห่อสินค้า ฟิล์มหุ้มแพ็คกล่องนม ถุงน้ำแข็ง ซองไปรษณีย์พลาสติก พลาสติกกันกระแทก ถุงซิปล็อค/ซองยา ถุงขนมปัง ถุงน้ำตาลทราย ถุงผักผลไม้ สามารถนำไปคืนได้ที่ถังของโครงการ “เปลี่ยนพลาสติกเป็นบุญ” (เมื่อคุณหมุนเวียน) และ โครงการ “มือวิเศษxวน” ส่วนพลาสติกแข็ง เช่น กล่องพลาสติกใส่อาหาร แก้วกาแฟ หลอดพลาสติก ชุดช้อมส้อม ขวดพลาสติก สามารถนำไปคืนได้ที่ถังของโครงการ “เปลี่ยนพลาสติกเป็นบุญ” (เมื่อคุณหมุนเวียน) และโครงการส่งพลาสติกกลับบ้าน”อธิบดี สส. กล่าว
ล่าสุด มีปริมาณพลาสติกที่ได้รับคืน แบ่งเป็นพลาสติกยืด 44.05 กิโลกรัม และพลาสติกแข็ง 86.46 กิโลกรัม หลังจากนี้จะนำขยะทั้งหมดเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล และอัพไซคลิ่งเพื่อนำไปเป็นส่วนผสมการผลิตผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ตลอดจนเพื่อสาธารณประโยชน์ เช่น รีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ (ถุงหูหิ้ว ไม้เทียม) การอัพไซเคิลเป็น “จีวรรีไซเคิล” ซึ่งบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ได้ร่วมกับวัดจากแดง ริเริ่มขึ้น
นายรัชฎา บอกด้วยว่า นอกจากนี้จะนำไปผลิตชุด PPE สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ และผลิตภัณฑ์รักษ์โลกอื่น ๆ ซึ่งจะมอบให้กับมูลนิธิสนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์เพื่อรักษาและช่วยชีวิตสัตว์ทะเล หรือกลุ่มอาสาสมัคร ชุมชน วัด หรือโรงเรียน ที่ขาดแคลนอุปกรณ์ในการดำรงชีวิตหรือขาดแคลนทุนทรัพย์
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรี ทส. กล่าวว่า สำหรับโครงการ“เปลี่ยนพลาสติกเป็นบุญ” (เมื่อคุณหมุนเวียน) เป็นการใช้กลไกประชารัฐบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชน ในการจัดการขยะพลาสติกอย่างครบวงจร เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นรูปธรรม ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานราชการทั้งภายในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และอีก 19 กระทรวง
รวมถึงเครือข่ายภาคเอกชนหลายองค์กร นำโดยกลุ่มความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน หรือกลุ่ม PPP Plastics และเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (TRBN) ซึ่งองค์กรและบริษัทเหล่านี้อยู่ในห่วงโซ่พลาสติกที่จะช่วยสนับสนุนการดำเนินโครงการให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ โดยจะนำขยะพลาสติกกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล หรืออัพไซคลิ่ง เพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ให้ผู้บริโภคใช้อีกครั้ง
ขณะเดียวกันยังช่วยลดปริมาณการใช้ขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวไม่ให้หลุดลอดสู่สิ่งแวดล้อม เพิ่มประสิทธิภาพการคัดแยกขยะ การนำขยะพลาสติกกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ซึ่งจะเป็นการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน และจัดการขยะพลาสติกอย่างครบวงจร อีกทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจในการจัดการขยะพลาสติกตั้งแต่ต้นทาง และส่งเสริมให้ประชาชนใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุด เป็นการสร้างความตระหนักแก่ประชาชน และคืนประโยชน์กลับสู่สังคมไทย
จะมีการวางแผนขยายเครือข่ายและยกระดับการดำเนินงานจัดการปัญหาขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวให้ครอบคลุมทุกภาคส่วนมากยิ่งขึ้น เช่น การคมนาคมขนส่งของประเทศ โครงข่ายอินเตอร์เน็ต และโทรคมนาคมต่าง ๆ
เป็นแผนการลด และกำจัดปริมาณขยะ ที่ต้องการความร่วมมือจากทุกคน ทุกภาคส่วน