ตลาดหลักทรัพย์ฯ เผยแพร่รายงาน “ESG Impact Assessment Report: THSI 2022” สรุปผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในรายชื่อหุ้นยั่งยืน THSI ที่สร้างผลลัพธ์เชิงบวกต่อผู้มีส่วนได้เสียทั้งภายในและภายนอกองค์กร เพื่อเป็นกรณีศึกษาและจุดประกายให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญในการพัฒนาธุรกิจและการลงทุนอย่างยั่งยืน
นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร และหัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ จัดทำรายงาน “ESG Impact Assessment Report : THSI 2022” เพื่อรวบรวมข้อมูลการดำเนินธุรกิจของบริษัทจดทะเบียนในรายชื่อหุ้นยั่งยืน THSI (Thailand Sustainability Investment) ประจำปี 2565 ที่สร้างผลลัพธ์เชิงบวกต่อผู้มีส่วนได้เสียรอบด้านอย่างเป็นรูปธรรม และมีความมุ่งมั่นจัดการผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social, Governance: ESG) พร้อมทั้งนำเสนอตัวอย่างการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้พัฒนาระบบ ESG Data Platform เพื่อเป็นศูนย์กลางรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูล ESG ที่บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยข้อมูล ESG ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการนำไปศึกษาและปรับใช้เพื่อยกระดับการดำเนินธุรกิจ รวมถึงเป็นข้อมูลสำหรับผู้ลงทุนเพื่อใช้ประกอบการวิเคราะห์และตัดสินใจลงทุน นำไปสู่การพัฒนาธุรกิจและการลงทุนที่ยั่งยืน สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการพัฒนาตลาดทุนเพื่อทุกภาคส่วน “To Make the Capital Market ‘Work’ for Everyone” นายศรพลกล่าว
“ESG Impact Assessment Report : THSI 2022” แสดงให้เห็นว่าบริษัทจดทะเบียนสามารถนำประเด็น ESG ไปสร้างความเข้มแข็งในการดำเนินธุรกิจ ในรอบปีที่ผ่านมาบริษัทจดทะเบียนมีการบริหารจัดการพลังงาน การใช้ไฟฟ้า/พลังงาน การใช้น้ำ การจัดการของเสียและก๊าซเรือนกระจกอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการพัฒนาพนักงาน คู่ค้า ชุมชนและสังคม การบริหารจัดการความเสี่ยง ตลอดจนพัฒนาโครงสร้างการกำกับดูแลกิจการที่ดีเพื่อการดำเนินงานอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้ จนสามารถวัดผลเป็นรูปธรรมทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ อาทิ
· ด้านสิ่งแวดล้อม ใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องจักรทำให้ลดการสูญเสียไฟฟ้า/พลังงาน มีการใช้น้ำตามหลัก 3R (Reduce, Reuse, Recycle) จัดการของเสียโดยนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาปรับใช้ รวมทั้งสนับสนุนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ทำให้เกิดผลกระทบเชิงบวก เช่น ใช้ไฟฟ้าน้อยลง 10,650 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง ใช้พลังงานหมุนเวียน 248,190 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง ปริมาณน้ำที่ลดและนำกลับมาใช้ใหม่ 227 ล้านลูกบาศก์เมตร และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 15 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่บริษัทประหยัดได้จากโครงการด้านสิ่งแวดล้อม 654 ล้านบาท เป็นต้น
· ด้านสังคม ให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนตามแนวทางสากล ดูแลไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยการทำกระบวนการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence) เพื่อประเมินผลกระทบและป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ดูแลพนักงาน/แรงงานด้วยการพัฒนาศักยภาพทั้ง Functional skill, Management skill และ Leadership skill ให้มีความสามารถและประสิทธิภาพในการทำงาน รวมถึงจัดให้มีสภาพแวดล้อมในการปฏิบัติงานที่ปลอดภัย ควบคู่พัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนและสังคมจากโครงการส่งเสริมด้านการเกษตร พัฒนาอาชีพแก่ชุมชน ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส ส่งเสริมด้านสุขภาพและคุณภาพชีวิตแก่คนในสังคม
· ด้านบรรษัทภิบาลและเศรษฐกิจ ร่วมสร้างวัฒนธรรมความโปร่งใสและตรวจสอบได้ โดยมีโครงสร้างองค์กรที่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี ซึ่งส่วนใหญ่มีประธานกรรมการเป็นคนละบุคคลกับผู้นำบริษัท และมีกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหารมากกว่าร้อยละ 66 อีกทั้ง 125 บริษัทจดทะเบียน เข้าร่วมเครือข่ายต่อต้านทุจริตและคอร์รัปชันในโครงการ Collective Action Coalition รวมทั้งให้ความสำคัญการบริหารจัดการความเสี่ยง ESG ความเสี่ยงจาก climate change ความเสี่ยงจากคู่ค้า และ emerging risk เพื่อให้ธุรกิจพร้อมปรับตัวและรับมือกับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นและส่งผลต่อธุรกิจ อีกทั้งยังช่วยให้คู่ค้ามีการพัฒนาการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนด้วย