นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จะนำแผนการเพิ่มศักยภาพแหล่งเก็บกักน้ำเข้าเป็นส่วนหนึ่งของโครงการฟื้นฟูภาคเกษตร ภายใต้พ.ร.ก. เงินกู้ โดยให้กรมชลประทานใช้โครงการขุดลอกหนองช้างใหญ่ หรือ”หนองช้างใหญ่โมเดล” จังหวัดอุบลราชธานี เป็นต้นแบบในการดำเนินการทั่วประเทศ
ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำแผนงานฟื้นฟูภาคเกษตร ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการฟื้นฟูเศรษฐกิจตามพ.ร.ก. เงินกู้ ในกรอบวงเงินงบประมาณ 400,000 ล้านบาท โดยจะเสนอแผนการเพิ่มศักยภาพแหล่งเก็บกักน้ำให้คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้พิจารณา โดยนำต้นแบบของกรมชลประทาน ที่เข้าไปดำเนินการที่อ่างเก็บน้ำหนองช้างใหญ่ อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานีไปขยายผล
สำหรับอ่างเก็บน้ำหนองช้างใหญ่มีเนื้อที่ 7,500 ไร่ เก็บกักน้ำได้ 7.675 ล้าน ลบ.ม. ก่อสร้างแล้วเสร็จตั้งแต่พ.ศ. 2497 จากการตรวจพื้นที่เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ พบว่ามีตะกอนตกจมอยู่มากและมีวัชพืชหนาแน่น ไม่สามารถเก็บกักน้ำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เกษตรกรในพื้นที่จึงมีน้ำไม่เพียงพอ จึงได้กำหนดแผนงานขุดลอกตั้งแต่ปี 2562 แต่เพื่อให้เก็บกักน้ำได้ทันในฤดูฝนนี้ ได้สั่งการด่วนให้เร่งขุดลอกให้มากที่สุด โดยได้รับอนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมปี 2563 และจัดเตรียมแผนงานสำหรับปีงบประมาณ 2564 สำหรับนำตะกอนดินออก พร้อมเสริมสันบานแบบฝายพับได้ และเสริมสันทำนบดิน หากดำเนินการแล้วเสร็จจะเก็บกักน้ำได้เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 15.50 ล้าน ลบ.ม. รวมเป็นความจุทั้งสิ้น 23.175 ล้าน ลบ.ม. หรือมากกว่า 3 เท่าของความจุเดิม
ทั้งนี้ ส่งผลให้เกษตรกรมีน้ำเพียงพอทำการเกษตร, บรรเทาปัญหาอุทกภัย และเพิ่มพื้นที่ชลประทาน เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำของชุมชน รวมทั้งเป็นแหล่งส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพให้กับชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียง ดังนั้นจะนำ “หนองช้างใหญ่โมเดล” เป็นต้นแบบขยายผลในการเพิ่มศักยภาพของแหล่งเก็บกักน้ำที่ใช้งานมานานทั่วประเทศ
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า การขุดลอกอ่างเก็บน้ำหนองช้างใหญ่ตามแผนงานปี 2562 และ 2563 จะนำตะกอนดินออกรวม 1 ล้าน ลบ.ม. รวมทั้งกำจัดผักตบชวาออกไปอีก 1,000 ตัน คิดเป็นพื้นที่ 20 ไร่ ส่วนงานเสริมสันทำนบดินอยู่ระหว่างดำเนินการ จากนั้นจะเร่งติดตั้งฝายแบบพับได้ เพื่อให้รองรับน้ำได้มากขึ้นในฤดูฝนนี้
ส่วนในปี 2564 มีแผนงานขุดลอกเพิ่มอีก 9.50 ล้าน ลบ.ม. เพื่อให้ได้ความจุเป็น 23.175 ล้านลบ.ม. นอกจากนี้ จะทำการก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบ้านแคน สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบ้านทุ่งใหญ่ สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบ้านนาดี และสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบ้านยาง เพื่อเพิ่มพื้นที่ชลประทานอีก 8,000 ไร่ รวมเป็น 12,300 ไร่ มีพื้นที่รับประโยชน์เพิ่มขึ้น 16,200 ไร่ รวมเป็น 19,700 ไร่ โครงการฯนี้จะช่วยให้เกษตรกรมีน้ำใช้ตลอดทั้งปี แม้ในฤดูแล้ง รวมทั้งยังป้องกันและบรรเทาอุทกภัยได้อีกด้วย