ซีพี ออลล์-เซเว่น อีเลฟเว่น เผยความสำเร็จโครงการสานอนาคตการศึกษา CONNEXT ED ปีการศึกษา 2565 สนับสนุนงบประมาณ-องค์ความรู้-อุปกรณ์การศึกษา-วัสดุอุปกรณ์-School Partner ยกระดับโรงเรียนสู่เส้นทางการสร้าง Life Long Learning สร้างอาชีพ และรายได้ยั่งยืนเพิ่มเติมแล้วอีก 111 แห่ง สร้างรากฐานการศึกษาและคุณภาพชีวิตที่ดีแก่คนในประเทศ กลุ่ม “โรงเรียนต้นแบบ” ยกทัพโชว์ผลงานเด่น โครงการต้นกล้าไร้ถัง ยกระดับสู่โครงการ “ลดขยะ เพิ่มประโยชน์” สร้างภาคีโรงเรียนชุมชน 593 แห่ง ลดขยะเทียบเท่าปลูกต้นไม้ 11,000 ต้น มั่นใจปี 2566 เดินหน้าตามโรดแมป 5 เฟส พัฒนาโรงเรียนสะสมทะลุ 569 แห่ง ครอบคลุมนักเรียนกว่า 140,000 คน พร้อมสร้าง “School Enterprise” วิสาหกิจโรงเรียนที่ปลูกฝังอาชีพ สร้างคลัสเตอร์รายได้ให้ชุมชน
นายยุทธศักดิ์ ภูมิสุรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่นและเซเว่น เดลิเวอรี่ กล่าวว่า ในฐานะหนึ่งในพันธมิตรผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี (CONNEXT ED) เพื่อร่วมขับเคลื่อนแผนงานสร้างอนาคตการศึกษาไทย ซีพี ออลล์ ยังคงเดินหน้าสนับสนุนทั้งงบประมาณ องค์ความรู้ อุปกรณ์การศึกษา วัสดุอุปกรณ์ ตลอดจนบุคลากรในเครือที่ผ่านการพัฒนาทักษะและมีจิตสาธารณะ เข้าไปเป็นผู้นำรุ่นใหม่ (School Partner) ร่วมลงพื้นที่เป็นคู่คิดพัฒนาโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง โดยในเฟสที่ 4 หรือปีการศึกษา 2564-2565 นั้นสามารถพัฒนาโรงเรียนเพิ่มเติมได้อีก 111 แห่งตามเป้าหมาย ส่งผลให้พัฒนาโรงเรียนสะสมในช่วง 4 เฟสแรกแล้วจำนวน 495 โรงเรียน คิดเป็นจำนวนนักเรียนที่เข้าร่วมสะสม 126,436 คนทั่วประเทศ
“เราเดินหน้าตามยุทธศาสตร์หลักทั้ง 5 ด้านของ CONNEXT ED ได้แก่ การสร้างความโปร่งใส การพัฒนาโรงเรียนให้สอดคล้องกับกลไกความต้องการตลาด การพัฒนาผู้อำนวยการและคุณครูศักยภาพสูง การพัฒนาหลักสูตรให้ส่งเสริมให้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เพื่อยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาไทยในศตวรรษที่ 21 สร้างรากฐานการศึกษาและการมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยมีการส่งเสริมโครงการด้านวิชาชีพ ด้านเกษตรกรรม ด้านวิชาการ ด้านศิลปวัฒนธรรม ด้านสิ่งแวดล้อม ให้สอดคล้องกับความต้องการและจุดแข็งของแต่ละโรงเรียน นำพาแต่ละโรงเรียนสู่เส้นทางการสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือ Life Long Learning การสร้างอาชีพ และการสร้างรายได้ยั่งยืน” นายยุทธศักดิ์ กล่าว
ที่ผ่านมา บริษัทได้แบ่งกลุ่มการพัฒนาโรงเรียน CONNEXT ED ออกเป็น 5 ระดับ ได้แก่ 1.โรงเรียนเรียนแรกเข้าร่วมทำแผนพัฒนา (Newcomer School) 2.โรงเรียนที่ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ (Best Practice School) 3.โรงเรียนต้นแบบ (School Model) และ 4.โรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School) โดย ณ สิ้นปีการศึกษา 2565 มีโรงเรียนที่ก้าวมาถึงระดับโรงเรียนต้นแบบแล้ว 16 แห่ง โรงเรียนร่วมพัฒนาอีก 9 แห่ง ทั้งหมดสามารถเดินหน้าตามกรอบความยั่งยืน 3 มิติ ทั้งการเป็นโรงเรียนที่พึ่งพาตนเองได้ การบูรณาการความรู้สู่หลักสูตรสถานศึกษาหรือหลักสูตรท้องถิ่น และการพัฒนาสู่ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน
สำหรับหนึ่งในโครงการที่โดดเด่นและขยายผลได้อย่างต่อเนื่อง คือโครงการต้นกล้าไร้ถัง ของโรงเรียนอนุบาลทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่บูรณาการการจัดการขยะเข้าสู่หลักสูตรการเรียนการสอนและให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมในการจัดการ ด้วยการคัดแยกวัสดุออกจากขยะจนสามารถหมุนเวียนรายได้กลับสู่โรงเรียน ปัจจุบัน โรงเรียนดังกล่าวได้กลายเป็นโรงเรียนร่วมพัฒนา ช่วยขยายผลการบูรณาการหลักสูตรสู่โรงเรียนและชุมชนต่างๆ 593 แห่งทั่วประเทศ ครอบคลุมนักเรียนกว่า 82,900 คน พร้อมกับพันธมิตรภาคีภาคเอกชนอีกจำนวนมาก จนยกระดับสู่โครงการ “ลดขยะ เพิ่มประโยชน์” ช่วยลดปริมาณขยะไปได้ 108 ตัน ลดก๊าซเรือนกระจกได้ 161 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ (tCO2e) หรือเทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 11,000 ต้น
นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายโรงเรียนที่ดำเนินโครงการได้อย่างโดดเด่น อาทิ โครงการศูนย์ช่างเชื่อมไฟฟ้า สร้างรายได้ สร้างอาชีพ ของโรงเรียนวัดแหลมโตนด อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ที่บูรณาการทักษะการเรียนรู้สู่การสร้างวิชาชีพ โครงการ “หูหิ้วถ้วยกาแฟ เส้นกกสายใยรักษ์โลก” ของ โรงเรียนวัดประดู่หอม (สุขประชาสรรค์) อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ที่พลิกโฉมภูมิปัญญาท้องถิ่น สู่หลักสูตรการเรียนรู้และผลิตภัณฑ์รักษ์โลก สร้างรายได้กลับคืนสู่ชุมชนอย่างยั่งยืน ห้องปฏิบัติการปัญญาประดิษฐ์ (AI Lab) โรงเรียนบ้านหนองแสงโคกน้อย จ.ขอนแก่น ที่สามารถเรียนรู้เทคโนโลยีวิทยาการสมัยใหม่ทั้งหุ่นยนต์หรือ Robotics , AI (Artificial Intelligence Lab) และ IoT (Internet of Things) อย่างง่าย นำมาสู่การสร้างสรรค์ผลงาน อาทิ เครื่องจ่ายเจลล้างมืออัตโนมัติ ราวตากผ้าอัตโนมัติ ถังขยะอัจฉริยะ
ด้านนายตรีเทพ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ประธานคณะทำงานโครงการสานอนาคตการศึกษา CONNEXT ED บมจ.ซีพี ออลล์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีการศึกษา 2566 ถือเป็นการดำเนินการเฟสที่ 5 และนับเป็นเฟสสุดท้ายของการดำเนินโครงการ CONNEXT ED ระยะแรก บริษัทจะยังคงเดินหน้าตามโรดแมปการพัฒนาโรงเรียนตลอดทั้ง 5 เฟสให้ได้รวม 569 แห่ง ครอบคลุมจำนวนห้องเรียนกว่า 4,600 ห้องเรียน หรือคิดเป็นจำนวนนักเรียนมากกว่า 140,000 คน พร้อมทั้งขยายผลโครงการของโรงเรียนร่วมพัฒนาสู่ภาคีเครือข่ายโรงเรียนและชุมชนใหม่ๆ เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการต้นกล้าไร้ถัง ที่พัฒนาสู่โครงการลดขยะ เพิ่มประโยชน์นั้น จะขยายผลสู่โรงเรียนถึง 720 แห่งทั่วประเทศ
ขณะเดียวกัน จะเตรียมเปิดเส้นทางการพัฒนาโรงเรียน CONNEXT ED จากเดิม 4 ระดับ เพิ่มเติมอีก 1 ระดับ คือ วิสาหกิจโรงเรียน (School Enterprise) โดยพัฒนาจากกลุ่มโรงเรียนต้นแบบ ร่วมเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้ให้ชุมชนสู่สื่อการเรียนรู้อย่างยั่งยืน โดยมีคณะการจัดการการศึกษาเชิงสร้างสรรค์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) เข้ามาช่วยแนะแนวทางบูรณาการหลักสูตรให้นักเรียนได้เรียนรู้ ได้เล่น ได้ฝึกอาชีพ เชื่อมโยงโรงเรียนไปยังชุมชน กระจายไปเป็นคลัสเตอร์ที่ชุมชนต่างๆ ได้ช่วยกันผลิตสินค้า ส่งมาจำหน่ายผ่านโรงเรียน สร้างรายได้ให้แก่ทั้งโรงเรียนและชุมชนอย่างยั่งยืน ตั้งเป้าปีการศึกษา 2566 พัฒนาให้เกิดวิสาหกิจโรงเรียนได้ทั้งสิ้น 12 แห่ง
สำหรับบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เป็นหนึ่งในพันธมิตรผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์ อีดี (CONNEXT ED) และเป็น 1 ใน 44 องค์กรเอกชนที่เล็งเห็นความสำคัญและตอบรับการมีส่วนร่วมทางการศึกษา โดยขับเคลื่อนโครงการตามปณิธานองค์กร “ร่วมสร้างสรรค์และแบ่งปันโอกาสต่อกัน” วางเป้าดูแลโรงเรียนในโครงการ CONNEXT ED 5 เฟส จำนวนกว่า 569 แห่งทั่วประเทศ ร่วมสนับสนุนโรงเรียนให้สามารถดำเนินโครงการด้านต่างๆ ทั้งโครงการที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ โครงการพัฒนาคุณภาพคน โครงการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน โครงการส่งเสริมอาชีพ โครงการด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีผู้นำรุ่นใหม่ หรือ School Partner ซึ่งเป็นอาสาสมัครจากในองค์กรร่วมลงพื้นที่และคอยให้คำแนะนำในการพัฒนาโครงการของโรงเรียนต่างๆ อย่างใกล้ชิด