บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ผนึกกำลัง SeaBOS (Seafood Business for Ocean Stewardship) ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทอาหารทะเลชั้นนำระดับโลก 10 แห่งที่ทำงานร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาห่วงโซ่ผลิตอาหารทะเลด้วยกระบวนการที่ยั่งยืนตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ก้าวสู่เป้าหมายในการปกป้องมหาสมุทร ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมทางทะเลซึ่งเป็นรากฐานของความมั่นคงด้านอาหารของสังคมโลก
น.สพ. สุจินต์ ธรรมศาสตร์ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ ธุรกิจสัตว์น้ำ ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทตระหนักถึงการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบ เพื่อรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ แม้ว่าบริษัทจะไม่ได้ผลิตปลาป่นหรือเป็นเจ้าของเรือประมง แต่บริษัทก็มุ่งมั่นที่จะสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อห่วงโซ่อุปทานอาหารทะเลทั้งหมด
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ ซีพีเอฟบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ และการผลิตอาหารที่ยั่งยืน ซึ่งจะเป็นหลักประกันความมั่นคงทางอาหารสำหรับผู้บริโภคทั่วโลกในอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจของ SeaBOS คือการเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงการผลิตอาหารทะเลในระดับโลก และลดผลกระทบของอุตสาหกรรมต่อมหาสมุทร
“เราเชื่อว่าการร่วมมือกับพันธมิตรที่มีอุดมการณ์เดียวกัน จะช่วยให้เราสามารถพัฒนาและปรับปรุงอุตสาหกรรมอาหารทะเลไปด้วยกัน ดีกว่าการเดินหน้าเพียงลำพัง ความรู้ที่ได้จากคณะทำงานของ SeaBOS มีประโยชน์อย่างมากต่ออุตสาหกรรมอาหารทะเลโดยรวม และเป็นประโยชน์ต่อซีพีเอฟด้วยเช่นกัน เพราะซีพีเอฟสามารถนำความรู้นี้ไปใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายและสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก เพื่อดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนและสร้างการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมอาหารทะเลที่เป็นรูปธรรม” น.สพ. สุจินต์ กล่าว
ในปี 2564 ซีพีเอฟ ได้เข้าร่วมเป็นภาคีสนับสนุนของคณะทำงานต้านทานจุลินทรีย์ (AMR) ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มทำงานของ SeaBOS คณะทำงานนี้ได้นำองค์ความรู้และประสบการณ์ของผู้ผลิตอาหารทะเล และผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกมาร่วมกันหาแนวทางในการลดการใช้ยาปฏิชีวนะในอุตสาหกรรมอาหารทะเล เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพในมนุษย์และสัตว์
ซีพีเอฟ ได้แชร์ความสำเร็จจานโยบาย“วิสัยทัศน์ระดับโลกด้านการใช้ยาต้านจุลชีพในสัตว์” ซึ่งบริษัทได้ประกาศตั้งแต่ปี 2560 ให้ทุกกิจการของซีพีเอฟทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกนำไปปฏิบัติ โดยในปัจจุบัน การเลี้ยงสัตว์น้ำของซีพีเอฟไม่มีการใช้ยาต้านจุลชีพ และสารเร่งการเจริญเติบโต (growth promoter) ในการเลี้ยงสัตว์น้ำทุกชนิด อย่างไรก็ตาม เมื่อพบว่าสัตว์ป่วย ซีพีเอฟ จะรักษาสัตว์ป่วยตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ โดยใช้ยาต้านจุลชีพอย่างรับผิดชอบ ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ใช้ในปริมาณที่เหมาะสม และมีระยะเวลาในการหยุดการใช้ยา นอกจากนี้ บริษัทฯ มีโปรแกรมตรวจสุขภาพสัตว์น้ำ และสุ่มตรวจภาวะเชื้อดื้อยาเป็นประจำ รวมถึงทำการสื่อสาร การแบ่งปันความรู้ ความสำเร็จไปยังพันธมิตรในห่วงโซ่อุปทานของซีพีเอฟ
“เราสามารถโน้มน้าวพันธมิตรได้โดยการแบ่งปันหลักฐานเชิงประจักษ์และแนวทางแก้ไขที่อาศัยหลักวิทยาศาสตร์ เช่นเดียวกัน เราสามารถกระตุ้นพวกเขาได้โดยการอธิบายปัญหาและแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของการใช้แนวทางที่ยั่งยืนมากขึ้น การแบ่งปันความรู้และถ่ายทอดความรู้ ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อบังคับใช้กฎระเบียบ ตลอดจนแรงขับเคลื่อนอื่น ๆ ทางอ้อม ล้วนสามารถส่งเสริมเครือข่ายซัพพลายเชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยกระดับมาตรฐานของอุตสาหกรรม ส่งเสริมแนวทางปฏิบัติที่รับผิดชอบและยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทานอาหารทะเล” น.สพ. สุจินต์ กล่าวทิ้งท้าย