นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ซีพีเอฟในฐานะบริษัทผู้ผลิตอาหารชั้นนำระดับโลก มุ่งมั่นมีส่วนร่วมสร้างความมั่นคงทางอาหาร ตระหนักถึงผลกระทบจากภาวะทุพโภชนาการที่กระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจ จึงได้เดินหน้าช่วยบรรเทาปัญหาด้วยการส่งเสริมการเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพ สะอาด ปลอดภัย ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ การสร้างทักษะในด้านการผลิตอาหาร การบริโภคที่ถูกหลักโภชนาการให้แก่เด็ก เยาวชน และผู้บริโภคทั่วประเทศ
โดยในปี 2563 บริษัทตั้งเป้าหมายส่งเสริมเด็ก เยาวชน รวมทั้งผู้บริโภค เข้าถึงข้อมูลด้านอาหารและโภชนาการ การเรียนรู้และทักษะเกี่ยวกับอาหาร ความรู้ด้านการโภชนาการ และการบริโภคอย่างยั่งยืน จำนวน 1.3 ล้านคน
ซีพีเอฟ ให้ความสำคัญกับเรื่องการจัดอาหารและคุณภาพอาหารกลางวันของเด็ก โดยถ่ายทอดประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านการผลิตอาหารผ่าน “โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน” ซึ่งดำเนินการร่วมกับมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบทและภาคีเครือข่าย ร่วมบรรเทาปัญหาทุพโภชนาการของเด็กและเยาวชนไทย ตั้งแต่ปี 2532 จนถึงปัจจุบัน มีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการแล้ว 824 โรงเรียน มอบโอกาสให้นักเรียนของโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลและทุรกันดารมากกว่า 150,000 คน และโครงการ ซีพีเอฟ อิ่ม สุข ปลูกอนาคต ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2558 ปัจจุบันมีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ 80 โรงเรียน เข้าถึงอาหารคุณภาพดี โดยในปี 2562 ช่วยบรรเทาภาวะทุพโภชนาการของเด็กและเยาวชน ทั้งที่มีภาวะผอม และภาวะอ้วน เตี้ย ลดลงจาก 15 % เหลือ 11 %
ทั้ง 2 โครงการ ให้ความสำคัญกับการสร้างแหล่งอาหารที่ยั่งยืนของโรงเรียนและชุมชน เน้นส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัตินอกห้องเรียน อาทิ เลี้ยงไก่ไข่ เลี้ยงปลา ปลูกผักสวนครัว สามารถนำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน และนำประสบการณ์ที่ได้รับไปประกอบอาชีพต่อไปได้ในอนาคต เห็นได้จากในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โควิด 19 โรงเรียนที่ร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน และ โครงการ ซีพีเอฟ อิ่ม สุข ปลูกอนาคต นำผลผลิตไข่ไก่มาจำหน่ายให้คนในชุมชนในราคาย่อมเยา ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของครัวเรือนได้
ภาวะทุพโภชนาการ ความอดอยาก และโรคอ้วน เป็นปัญหาที่กระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา ขณะที่องค์การสหประชาชาติ (UN) ตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ จึงได้กำหนดประเด็นขจัดความอดอยากและสร้างความมั่นคงทางอาหาร การส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดี ของทุกคน การสร้างรูปแบบการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน และสร้างความร่วมมือระดับสากลสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนไว้ในเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน 17 ประการ (Sustainable Development Goals : SDGs)