นายกิตติ หวังวิวัฒน์ศิลป์ ในฐานะประธานคณะทำงานบรรจุภัณฑ์ยั่งยืน บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ซีพีเอฟให้ความสำคัญกับการออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ใช้วัสดุแทนพลาสติก หรือ พลาสติกที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติที่สามารถย่อยสลายได้ ควบคู่กับการพัฒนาบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่เอื้อต่อการนำกลับมาใช้ใหม่ได้(Recycle) ให้มากที่สุด ทั้งนี้ เป็นไปตามนโยบายและแนวทางปฏิบัติด้านบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนของบริษัท
ที่ผ่านมา ซีพีเอฟ ริเริ่มการใช้พลาสติกชีวภาพ PLA ในประเทศไทยโดยเริ่มต้นใช้กับเนื้อหมู และไก่สดแช่เย็น ที่CP Butcher ทั่วประเทศในปี 2558 และได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เช่น การปรับปรุงรูปแบบบรรจุภัณฑ์ในปี 2562ให้มีความหนาลดลงร้อยละ 17ช่วยลดการใช้พลาสติก โดยไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพการเก็บอาหาร และในปีนี้ ได้ต่อยอดโดยการเป็นผู้ริเริ่มในการเปลี่ยนมาใช้ฟิล์มยืดหุ้มถาดที่เป็นวัสดุ Non-PVCทำให้สามารถรีไซเคิลได้ง่ายขึ้น และปลอดภัยกว่าการใช้ วัสดุ PVC ที่มีสารกลุ่มคลอรีนเป็นองค์ประกอบ ซึ่งอาจก่อให้เกิดสารพิษเมื่อถูกเผาทำลาย หรือเข้าสู่กระบวนการที่มีความร้อนสูงมากๆ เพื่อให้เป็นบรรจุภัณฑ์ที่มีความปลอดภัยด้านอาหารและความยั่งยืนอย่างสมบูรณ์
ในช่วง 5ที่ผ่านมา ซีพีเอฟ ได้ใช้ถาดชนิดนี้ไปแล้วกว่า 20ล้านชิ้น ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า 807,700กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า จากความสำเร็จนี้ นวัตกรรมถาดPLA ของซีพีเอฟ ยังได้รับรางวัลชมเชย จากกิจกรรม Thailand Research Expo 2020 Award ในมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2563
นอกจากถาดชีวภาพแล้ว ซีพีเอฟยังเดินหน้าศึกษาและออกแบบบรรจุภัณฑ์อาหารเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เช่น การใช้วัสดุชนิดเดียว (mono material) ตลอดทั้งชิ้นกับสินค้าไก่ปรุงสุกแช่แข็ง ตรา Kitchen Joy ที่วางจำหน่ายในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย เพื่อให้สามารถนำบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ 100% และมีการต่อยอดใช้กับสินค้าอื่น ๆ ต่อไป
จากเป้าหมายนโยบายบรรจุภัณฑ์พลาสติกของบริษัทฯที่นำมาใช้จะต้องสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ (Reusable) นำมาใช้ใหม่ (Recyclable) นำไปผลิตเป็นสินค้าอื่นใหม่ได้ (Upcyclable) หรือ สามารถย่อยสลายได้ (Compostable) 100%สำหรับกิจการในประเทศไทย ในปี 2568 และกิจการในต่างประเทศจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จในปี2573 ปัจจุบันซีพีเอฟได้ออกแบบบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารทำมาจากพลาสติกที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ (Recyclable plastic) คิดเป็นร้อยละ99.5 ของปริมาณบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ทั้งหมดสำหรับกิจการในประเทศ