นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงผลการคัดเลือกสถาบันเกษตรกรผู้ใช้น้ำชลประทานดีเด่น ประจำปี 2565 รอบตัดสิน ว่า กองส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กรมชลประทาน ได้ดำเนินการคัดเลือกสถาบันเกษตรกรผู้ใช้น้ำชลประทานดีเด่น เพื่อส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของเกษตรกรกลุ่มผู้ใช้น้ำ ในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำชลประทานร่วมกันระหว่างสมาชิก เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเกษตรอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม โดยเกณฑ์ในการคัดเลือกจะเป็นไปตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนด คือ 1.ความคิดริเริ่ม 2. ความสามารถในการบริหารจัดการน้ำ 3.การมีส่วนร่วมของสมาชิก 4.ความมั่นคงและฐานะทางเศรษฐกิจของสถาบัน 5.การทำกิจกรรมด้านสาธารณประโยชน์ และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งในปี 2565 นี้ กลุ่มที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ระดับกรมชลประทาน
อันดับที่ 1 ได้แก่ กลุ่มบริหารการใช้น้ำระบบท่อบ้านชำตาเรือง จังหวัดจันทบุรี โครงการชลประทานจันทบุรี สำนักงานชลประทานที่ 9
อันดับที่ 2 กลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานอ่างเก็บน้ำห้วยแฮต จังหวัดน่าน โครงการชลประทานน่าน สำนักงานชลประทานที่ 2
อันดับที่ 3 กลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานฝายวังยาง โซน 2 จังหวัดร้อยเอ็ด โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชีกลาง สำนักงานชลประทานที่ 6
อันดับที่ 4 กลุ่มบริหารการใช้น้ำคลองด้วน จังหวัดสุพรรณบุรี โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากระเสียว สำนักงานชลประทานที่ 12
โดยกลุ่มบริหารการใช้น้ำระบบท่อบ้านชำตาเรือง จังหวัดจันทบุรี ที่ได้รับรางวัลที่ 1 จะเข้ารับรางวัลพระราชทาน ในวันพืชมงคล 2565 ต่อไป
ด้านดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการคัดเลือกสถาบันเกษตรกรผู้ใช้น้ำชลประทานดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2565 กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการอ่างเก็บน้ำศาลทราย จังหวัดจันทบุรี เป็น 1 ใน โครงการพัฒนาลุ่มน้ำจันทบุรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่มีความสำคัญต่อจังหวัดจันทบุรี เนื่องจากเป็นแหล่งเก็บกักน้ำขนาดกลางเพียงแห่งเดียว ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ตอนบนของจังหวัด ความจุเก็บกักประมาณ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่ชลประทานด้านท้ายอ่างเก็บน้ำประมาณ 13,900 ไร่ ส่งน้ำให้กับเกษตรกรโดยการปล่อยน้ำลงตามลำน้ำธรรมชาติ มีฝายทดน้ำ เก็บน้ำไว้เป็นช่วง ๆ เพื่อให้เกษตรกรที่อาศัยอยู่ตามลำน้ำสูบน้ำไปใช้ทำการ แต่เนื่องจากพื้นที่รับประโยชน์ของอ่างเก็บน้ำศาลทรายส่วนใหญ่อยู่ทางตอนล่าง ทำให้เกษตรกรโดยรอบที่อยู่ทางตอนบนของอ่างฯ ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวนผลไม้ ในช่วงฤดูแล้งได้รับน้ำไม่ทั่วถึง ส่งผลต่อการเจริญเติบโต ทำให้ผลผลิตไม่ได้คุณภาพและราคาต่ำ
ทั้งนี้ กรมฯ ได้ประสานกับเกษตรกรในพื้นที่ ให้ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถึงวัตถุประสงค์ในการจัดทำโครงการระบบท่อส่งน้ำบ้านชำตาเรือง เพื่อทำหน้าที่สูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำศาลทราย ส่งให้กับพื้นที่ชลประทานตอนบนของอ่างฯ ประมาณ 2,185 ไร่ สามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำให้แก่เกษตรกรที่อยู่ทางตอนบนของอ่างฯได้ ที่สำคัญเกษตรกรในพื้นที่ได้เข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการน้ำด้วยตัวเอง มีการจัดตั้งกลุ่มบริหารการใช้น้ำระบบท่อบ้านชำตาเรือง เพื่อบริหารจัดการน้ำที่ส่งเข้าพื้นที่แปลงเพาะปลูกของแต่ละรายตามรอบเวร จึงทำให้ได้รับน้ำอย่างเต็มที่ ส่งผลให้ผลผลิตที่ออกมามีคุณภาพ ไม่ต่างจากพื้นที่การเพาะปลูกที่อยู่ทางตอนล่างของอ่างฯ นับได้ว่าโครงการนี้เป็นอีกหนึ่งโครงการที่เอื้อประโยชน์ต่อเกษตรกรที่มีพื้นที่เพาะปลูกทั้งตอนบนและตอนล่างของอ่างฯ ได้อย่างเท่าเทียมกัน