จังหวัดนนทบุรี และกรมประมงบูรณาการความร่วมมือภาครัฐ เอกชน และชุมชน เดินหน้ากำจัดปลาหมอคางดำอย่างเข้มแข็ง สนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนช่วยกันจับขึ้นมาปรุงเป็นมื้ออาหารทุกวัน วันละประมาณ 10-20 กิโลกรัม ตามแนวทางมาตรการในการแก้ไขในระยะเร่งด่วน ได้แก่ 1.การควบคุมและกำจัดในทุกแหล่งน้ำที่พบการระบาด 2.การปล่อยปลานักล่า อาทิ ปลากะพงขาว ปลาอีกง ปลาช่อน ปลากราย เป็นต้น 3.การนำปลาหมอคางดำออกจากระบบนิเวศไปใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด 4. การสำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจายในแหล่งน้ำธรรมชาติ และ 5.การประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักรู้ให้กับทุกภาคส่วน โดยได้รับการสนับสนุนเครื่องมือจับปลาจาก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ และได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการจัดหาปลานักล่าจากจังหวัดนนทบุรีและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่ผ่านมา จังหวัดปล่อยปลานักล่าไปแล้ว 128,000 ตัว ลงใน 2 ลำคลองรักษาความสมดุลระบบนิเวศ พร้อมร่วมมือกับผู้นำชุมชนช่วยกันหาแนวทางใช้ประโยชน์จากปลาหมอคางดำเพิ่มขึ้น เช่น ปลาร้า ปลาแดดเดียว เพื่อส่งเสริมการบริโภคเพื่อกำจัดปลาหมอคางดำอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นางระวีพรรณ แก้วเพียวเพ็ญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี กล่าวว่า จังหวัดนนทบุรีให้ความสำคัญกับการควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำอย่างเข้มข้น โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองท้องถิ่น ภาคเอกชน ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ผู้นำชุมชน และชาวบ้าน เพื่อควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในทุกลำคลอง และเมื่อเร็วๆ นี้ ( 18 ตค.67) จังหวัดนนทบุรีจัดกิจกรรม “ปล่อยปลานักล่า (ปลากินเนื้อ)” ปล่อยปลานักล่ารวม 58,000 ตัวลงสู่คลองบางคูเวียง ในอำเภอบางกรวย เพื่อควบคุมปลาหมอคางดำ ซึ่งเป็นการจัดกิจกรรมปล่อยปลานักล่าครั้งที่สอง หลังจากเคยจัดกิจกรรมปล่อยปลานักล่าครั้งแรก จำนวน 70,000 ตัวในคลองปลายบางเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา “การกำจัดและควบคุมปลาหมอคางดำในลำคลองจังหวัดนนทบุรี ไม่เพียงช่วยรักษาระบบนิเวศในลำคลองของจังหวัดนนทบุรีเท่านั้น ยังช่วยหยุดยั้งการแพร่กระจายของปลาหมอคางดำไปในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง ได้แก ปทุมธานีนครปฐม พระนครศรีอยุธยา ที่มีลำคลองเชื่อมต่อกับจังหวัดนนทบุรีอีกด้วย” นางระวีพรรณกล่าว
นางนิตยา รักษาราษฎร์ หัวหน้ากลุ่มบริหารจัดการด้านการประมง รักษาราชการแทนประมงจังหวัดนนทบุรี กล่าวว่า จังหวัดนนทบุรีพบปลาหมอคางดำกระจายในทุกอำเภอ แต่ไม่ชุกชุม ที่ผ่านมาจัดกิจกรรม “ลงแขกลงคลอง” ในลำคลองต่างๆ สามารถจับปลาหมอคางดำออกจากลำคลองได้ประมาณ 210 กิโลกรัม เพราะปลาหมอคางดำมักอาศัยอยู่ตามริมตลิ่ง และพื้นคลองส่วนใหญ่ขรุขระ มีตอและหินค่อนข้างมากทำให้ใช้อวน หรือแหได้ไม่สะดวก อุปกรณ์จับสัตว์น้ำที่มีประสิทธิภาพตามลำคลองในจังหวัดนนทบุรี คือ “ข่าย” ซึ่งสำนักงานประมงจังหวัดนนทบุรีได้รับการสนับสนุนจากซีพีเอฟนำไปแจกจ่ายให้กับชาวบ้านใช้เป็นเครื่องมือช่วยกันจับปลาหมอคางดำขึ้นมาเพื่อใช้บริโภคทุกวัน ปัจจุบัน ปลาหมอคางดำถูกกำจัดจากคลองต่างๆ ในจังหวัดนนทบุรีวันละประมาณ 10-20 กิโลกรัม ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ที่จับได้นำไปบริโภคในครัวเรือน และสำนักงานประมงจังหวัดนนทบุรีได้เข้าร่วมโครงการสร้างแรงจูงใจในการนำปลาหมอคางดำที่กำจัดออกไปใช้ประโยชน์โดยการหมักปลาร้ากับกรมประมง เพื่อเป็นพื้นที่ที่ช่วยกำจัดปลาหมอคางดำจากจังหวัดอื่นที่มีการแพร่ระบาดหนาแน่น และเกิดประโยชน์กับกลุ่มเกษตรกรและชุมชนต่อไป และเป็นการกระตุ้นให้มีการจับปลาหมอคางดำมากขึ้น
หลังจากนี้ จังหวัดนนทบุรียังดำเนินการกำจัดปลาหมอคางดำอย่างต่อเนื่อง ตามมาตรการกรมประมง มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน “เจอ แจ้ง จับ” หากพบปลาหมอคางดำให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทันทีและช่วยกันจับปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำโดยไม่ต้องรอ พร้อมทั้งมีแผนปล่อยปลานักล่าให้ครบทุกลำคลอง โดยจะเน้นการปล่อยพันธุ์ปลาน้ำจืด เช่น ปลาอีกง ปลาช่อน ปลากราย และปลากด ซึ่งเป็นปลาพื้นถิ่น พร้อมทั้งมีการสื่อสารขอความร่วมมือกับชุมชนไม่จับปลานักล่า เป็นระยะเวลา 2 เดือน หลังจากปล่อยเพื่อให้สามารถกำจัดปลาหมอคางดำขนาดเล็กๆ ที่อยู่ในลำคลองให้หมดไปอย่างยั่งยืน.