สัปดาห์ที่แล้ว แนะนำให้แบ่งเงินออม เป็น 4 ก้อนหรือ 4 บัญชี ตามวัตถุประสงค์ของการออมเงิน คือ 1.บัญชีเงินออมไว้ใช้ยามฉุกเฉิน 2.บัญชีเงินออมระยะสั้น-ปานกลาง 3.บัญชีเงินออมระยะยาว 4. บัญชีเงินออมเพื่อการลงทุน
มีบางคนโอดโอยว่า ปฎิบัติตามคาถาแก้จนคือ “ออมก่อนใช้” แล้ว แต่เมื่อถึงเวลา เงินที่กันไว้ใช้จ่าย กลับไม่พอใช้.. ไม่รู้ว่าเงินหายไปกับอะไร!! ยังไม่ทันสิ้นเดือน.. มารู้ตัวอีกที.. เงินหมดแล้ว เงินหายไปไหน??!! ใครเป็นอย่างนี้บ้าง…..!!
บทเรียนสู่ความร่ำรวยมั่งคั่งที่สำคัญอีกอย่าง คือ ต้องวางแผนการใช้จ่ายวิธีปฎิบัติที่ทุกคนต้องทำคือ การจดบันทึกรายรับ-รายจ่าย มีรายรับจากเงินเดือนเท่าไร เงินจากค่าล่วงเวลา เงินจากจ็อบพิเศษ เงินขายของออนไลน์ รับมาเท่าไรจดไว้
ส่วนรายจ่ายอันนี้ สำคัญมาก ต้องจดบันทึกไว้ทุกวันทุกครั้งว่าใช้จ่ายเงินซื้ออะไรไปบ้าง ค่าใช้จ่ายเล็กน้อย ที่ควักออกจากกระเป๋าต้องจดไว้ให้หมด พกสมุดเล็กๆติดตัวไว้เลย จะจดทันทีหรือมาจดตอนสิ้นวันก็ได้
พอสิ้นเดือน มาพิจารณาดูว่ามี “รูรั่ว” ตรงไหน เงินที่จ่ายไป มีสิ่งฟุ่มเฟือยที่ไม่จำเป็นต้องซื้อ หรือควรซื้อให้น้อยลงได้หรือไม่ เช่น กาแฟร้านหรู-ชานมไข่มุกแบรนด์ดัง ดูหนังฟังเพลง เที่ยวเตร่ ปาร์ตี้ กินข้าวนอกบ้าน
เมื่อหาสาเหตุได้ว่าทำไมเงินถึงไม่พอใช้ ก็จัดการควบคุมหรือตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นเหล่านี้ในเดือนถัดไป เมื่ออุด “รูรั่ว”ได้แล้ว จะทำให้เรามีเงินเหลือ มาออมได้เพิ่มขึ้นทันที!!
เช่น ทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ 5 วัน ที่มาทำงานต้องกินชานมไข่มุกแก้วละ 40 บาท(บางยี่ห้อแก้วนึงเป็นร้อยบาท) สัปดาห์ละ 200บาท หนึ่งเดือน 4 สัปดาห์ ลดค่าใช้จ่ายได้ 800 บาทแล้ว
นี่คือความสำคัญของการจดบันทึกรายรับรายจ่าย นอกจากจะทำให้เห็นถึงพฤติกรรมการใช้จ่ายที่เป็นต้นเหตุปัญหา “กระเป๋ารั่ว” ของตัวเองแล้ว ยังช่วยให้เราปรับวิธีใช้จ่ายและคุมค่าใช้จ่ายได้ตรงจุดและมีประสิทธิภาพ
นอกจากการจดรายจ่าย ที่เป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน คือ ค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าเสื้อผ้า ค่าเดินทาง ค่ากิจกรรมบันเทิงฟุ่มเฟือย ต่างๆแล้ว
ยังมีค่าใช้จ่ายประเภทอื่นด้วย คือ ค่าใช้จ่ายเพื่อการออมและการลงทุน อันนี้จดเสร็จแล้วต้องกันเงินทุกเดือนแยกเงินใส่บัญชีเงินออมและเงินลงทุนไว้ต่างหากเลย อีกค่าใช้จ่ายคือ “ค่าใช้จ่ายคงที่” ที่ต้องจ่ายแน่นอนทุกเดือน เช่น ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ หรือค่าเช่าบ้าน ค่าเบี้ยประกัน เป็นต้น
หากเบื่อการจดใส่กระดาษแบบเดิมๆ ลองโหลดแอปทำบัญชีรายรับรายจ่าย “SET Happy Money จดอย่างมีวินัย” ของตลาดหลักทรัพย์มาใช้ดู นอกจากบันทึกรายรับรายจ่ายแล้ว ยังมีบันทึกรายการสินทรัพย์และหนี้สิน และวิเคราะห์สุขภาพการเงิน และฟีเจอร์อื่นๆให้ด้วย ลองไปดูกัน ถ้าไม่ถนัดก็กลับมาจดใส่สมุดบันทึกเหมือนเดิม
เริ่ม “จดแก้จน” ตั้งแต่วันนี้ แล้วเราจะรวยไปด้วยกัน!!
ที่มา คอลัมน์ รู้เก็บรู้ออมรู้ใช้รู้ลงทุน..สู่ความมั่งคั่ง ข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ