คณะรัฐมนตรี รับทราบ ข้อเสนอแนะของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ให้สถานศึกษาต้องมีหลักสูตรบังคับด้านทักษะความรู้ทางการเงิน ตั้งแต่ระดับอนุบาล เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ในระยะยาว พร้อมอนุมัติงบประมาณ จำนวน 4,900 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบ และอุ้มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี-รายย่อย
นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมครม. เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2566 ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ให้ข้อแนะนำสำหรับการแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบว่า ควรให้มีการกำหนดหลักสูตรวิชาบังคับในสถานศึกษา ตั้งแต่ระดับการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาล ให้มีทักษะความรู้ทางด้านการเงิน ออมทรัพย์ทั้งในยามฉุกเฉินและเพียงพอในวัยเกษียณ
ทั้งนี้ ครม.ได้อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 4,900 ล้านบาท เพื่อดำเนินในโครงการแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบ โดยกระทรวงการคลังได้เสนอมาตรการ 3 ข้อ ดังนี้
1.มาตรการช่วยเหลือพักหนี้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด
2.มาตรการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือและรองรับลูกหนี้นอกระบบ
3.มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ตามโครงช่วยเหลือค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระ
ทั้งนี้ งบประมาณ 4,900 ล้านบาท แบ่งเป็นงบสำหรับช่วยเหลือเอสเอ็มอี 400 ล้านบาท และช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบ 4,500 ล้านบาท โดยให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เป็นต้น โดยให้สถาบันการเงินสำรองเงินไปก่อน และตั้งของบประมาณชำระคืน จากสำนักงบประมาณต่อไป
“การแก้ไขหนี้ในระบบและหนี้นอกระบบ จะช่วยแบ่งเบาภาระหนี้ของลูกหนี้ในระบบ ช่วยเหลือให้ลูกหนี้ที่มีหนี้นอกระบบสามารถกลับเข้ามาในระบบได้ และป้องกันไม่ให้ลูกหนี้ที่มีหนี้ในระบบกลับไปเป็นหนี้นอกระบบได้อีก สามารถบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน ช่วยให้ประชาชนสามารถผ่อนชำระหนี้ได้สอดคล้องกับศักยภาพในการหารายได้ พร้อมทั้งผลักดันให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้อย่างเหมาะสมเป็นธรรม” นายคารม กล่าว