บทความ โดย อัยย์ วิทยาเจริญ นักวิชาการอิสระด้านสัตว์น้ำ
ในช่วงปีที่ผ่านมา “ปลาหมอคางดำ” (Blackchin tilapia) หรือที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sarotherodon melanothedon ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในสังคมไทย หลังมีการแพร่ระบาดในแหล่งน้ำหลายพื้นที่ของประเทศ ประเด็นนี้ก่อให้เกิดกระแสสังคมและความวิตกกังวลถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ รวมถึงคำถามถึงต้นตอของการนำเข้าสายพันธุ์ปลาต่างถิ่นชนิดนี้และชนิดอื่นๆ เข้ามาในประเทศไทย
กรณีนี้ มีความเห็นหลากหลายและข้อกล่าวหาจากหลายฝ่าย มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่สังคมควรตั้งหลักและพิจารณาเรื่องนี้อย่างมีสติ โดยอาศัยข้อมูลข้อเท็จจริง หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ และกระบวนการยุติธรรม มากกว่าการด่วนสรุปตามกระแสสังคมหรืออารมณ์
ปลาหมอคางดำ เป็นปลาน้ำจืดต่างถิ่นที่มีต้นกำเนิดจากแอฟริกา ซึ่งมีผู้นำเข้ามาในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมายเพียงรายเดียวและได้ยกเลิกการทำวิจัยไปเมื่อ 14 ปีแล้ว ก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดขึ้น การสืบค้นหลักฐานและพยานทั้งทางวิทยาศาสตร์และบุคคลจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องมีการพิสูจน์ให้ถ่องแท้
กรณีการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และรายงานจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ฟิลิปปินส์ ชี้ชัดว่าปลาชนิดนี้ได้แพร่ระบาดในบางพื้นที่ของอ่าวมะนิลา ซึ่งสะท้อนถึงความเป็นไปได้ของการแพร่กระจายที่มีปัจจัยมากกว่าการนำเข้าอย่างถูกกฎหมายในประเทศใดประเทศหนึ่ง การที่ประเด็นนี้ถูกมองข้ามหรือไม่ได้รับความสนใจในบริบทภูมิภาค สะท้อนให้เห็นว่ายังมีช่องว่างด้านข้อมูลและการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ที่สังคมควรพิจารณาอย่างรอบด้าน ก่อนจะสรุปต้นตอสาเหตุอย่างเร่งรีบ
ในความเป็นจริง ตลาดปลาภายในประเทศมีมูลค่าการค้าขายสูงถึงหลักหมื่นล้านบาทต่อปี และยังมีการพบปลาต่างถิ่นจำนวนไม่น้อยที่ถูกลักลอบนำเข้าโดยไม่ผ่านกระบวนการตรวจสอบของรัฐ ซึ่งนับเป็นช่องโหว่สำคัญที่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำในธรรมชาติ การลักลอบนำเข้าปลาต่างถิ่นผิดกฎหมายเป็นข้อสังเกตสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามได้ ยังไม่มีคำอธิบายจากหน่วยงานภาครัฐที่ชัดเจนหรือหลักฐานที่เพียงพอในเวลานี้
ในสังคมที่ข้อมูลไหลเวียนอย่างรวดเร็ว ความเชื่อและอคติสามารถเปลี่ยนเป็นคำตัดสินได้ก่อนที่ข้อเท็จจริงจะได้รับการพิสูจน์ น่าเสียดายที่กระบวนการยุติธรรมในกรณีนี้ถูกเพิกเฉยด้วยกระแสโจมตีฝ่ายเดียว จนบางครั้งมองข้ามหลักฐานและข้อเท็จจริงที่ต้องผ่านการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญและศาล แต่เป็นการตัดสินด้วยกระแสแทน
สิ่งสำคัญคือสังคมควรปล่อยให้กระบวนการตรวจสอบและพิจารณาทางกฎหมายเป็นไปอย่างโปร่งใส และให้เกียรติกับความจริงที่ปรากฏผ่านหลักฐานและพยาน มากกว่าการตัดสินจากความคิดเห็นที่ยังไม่มีความชัดเจน
การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในประเทศไทยเป็นเรื่องที่ควรพิจารณาด้วยข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์และข้อเท็จจริงที่ตรวจสอบได้ ไม่ใช่เพียงความเชื่อหรืออารมณ์สังคม การตั้งคำถามเชิงวิพากษ์ต่อกระบวนการนำเข้า การลักลอบค้าสัตว์น้ำผิดกฎหมาย และการจัดการแหล่งน้ำอย่างยั่งยืน ควรได้รับความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการหาคนผิด
สุดท้ายแล้ว หน้าที่ของสังคมไม่ใช่การตัดสินล่วงหน้า แต่คือการรับฟังและตรวจสอบอย่างเที่ยงตรง เพื่อให้ความจริงและความยุติธรรมเป็นเรื่องเดียวกัน.