“คีรี” เผยบีทีเอสกรุ๊บ มั่นใจเต็มร้อย พร้อมลงทุนพัฒนาระบบภายในสนามบินให้ทันสมัยที่สุด เตรียมแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์และการเชื่อมต่อกับระบบขนส่งภายนอก เชื่อประสบการณ์กว่า 20 ปีจะช่วยโครงการให้สำเร็จ
รายงานข่าว เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด ได้จัดให้การแถลงข่าวถึงการพัฒนา “โครงการสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก” โดยเป็นการแถลงร่วมกันของ นายปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ที่ปรึกษาประธานคณะผู้บริหาร บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ปโฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และนายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ณ โรงแรม ยู สาทร กรุงเทพฯ
นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ปโฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก นับเป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งเป็นสนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลักแห่งที่ 3 ของประเทศไทย และรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการนี้เป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ การผนึกกำลังของภาคเอกชนระดับแนวหน้าของไทยทั้งสามกิจการ กลุ่มบริษัทบีทีเอสจะใช้ประสบการณ์ที่มีมากว่า 20 ปี ต่อยอดให้กับธุรกิจในเครือ ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน อสังหาริมทรัพย์ และอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นในด้านระบบขนส่งมวลชนทางราง ด้านการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน และความสามารถในการพัฒนาธุรกิจในด้านต่างๆ เพื่อจะมาเป็นแรงผลักดัน ให้โครงการสนามบินนานาชาติอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกประสบความสำเร็จ
กลุ่มบริษัทบีทีเอสมั่นใจ 100% ที่จะเดินหน้าลงทุนที่จะพัฒนาระบบภายในสนามบินให้มีความทันสมัยมากที่สุด ซึ่งทางบริษัทได้เตรียมแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์และแผนในการสร้างระบบเชื่อมต่อการเดินทางภายในโครงการให้เชื่อมต่อกับระบบการขนส่งภายนอกทุกระบบรวมถึงโครงการรถไฟความเร็วสูง 3 สนามบิน และจะมีการพัฒนาระบบรถไฟฟ้า APM (Automated People Mover ) เชื่อมการเดินทางภายในโครงการเพื่อพัฒนาศักยภาพเมืองการบินให้เป็นเขตส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เพื่อรองรับการขยายตัวของพื้นที่ EEC และเชื่อมโยงการขนส่งผู้โดยสารกับสนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อที่จะก้าวขึ้นสู่การเป็น Aviation Hub ที่สำคัญของระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก สำหรับโครงการนี้ไม่ได้มีเพียงสนามบิน แต่ยังมีธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการบิน โดยเฉพาะเมืองการบิน และ Free Trade Zone ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ ที่มีความท้าทายและสามารถสร้างมูลค่าให้กับโครงการได้มากมายจึงทำให้มั่นใจได้ว่าผลตอบแทนที่เสนอให้รัฐเป็นตัวเลขที่มีพื้นฐานจากข้อเท็จจริง
ทั้งนี้ บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (กลุ่มกิจการร่วมค้า BBS) เกิดจากความร่วมมือจาก 3 บริษัทเอกชนใหญ่ ได้แก่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมกันลงทุนประมาณกว่า 290,000 ล้านบาท
โครงการสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ถือเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ที่เป็นการต่อยอดความสำเร็จมาจากโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อยกระดับสนามบินอู่ตะเภาเป็น “สนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลักแห่งที่ 3 ของกรุงเทพฯ” เพื่อพัฒนาไปสู่ประตูเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เชื่อมต่อสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิด้วยรถไฟความเร็วสูง และ เป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โดยรัฐจะได้ผลประโยชน์ ด้านการเงิน 305,555 ล้านบาท ได้ภาษีอากรกว่า 62,000 ล้านบาท และเกิดการจ้างงานเพิ่ม 15,600 ตำแหน่งต่อปีในระยะ 5 ปีแรกของสัมปทาน พร้อมทั้งเกิดการพัฒนาทักษะบุคลากรด้านธุรกิจการบิน เทคโนโลยีองค์ความรู้ด้านธุรกิจการบิน ซึ่งทรัพย์สินทั้งหมดจะตกเป็นของรัฐเมื่อสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน 50 ปี