ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายปรีดา จุลวงษ์ รองประธานกรรมการ ซี.พี. กัมพูชา และนางสาวพิมลรัตน์ รีพัฒนาวิจิตรกุล ประธานผู้บริหารทรัพยากรบุคคล เครือซีพี-ซีพีเอฟ เข้าพบและประชุมกับ นายอิต ซอมเฮง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและการฝึกอาชีพ ประเทศกัมพูชา เพื่อรายงานความคืบหน้าในการดำเนินธุรกิจของ ซี.พี.กัมพูชา รวมทั้งแนวทางการปฏิบัติด้านแรงงานของบริษัทฯ
นายอิต ซอมเฮง กล่าวชื่นชม การลงทุนและดำเนินธุรกิจของซีพีเอฟในประเทศกัมพูชา ผ่าน บริษัท ซี.พี.กัมพูชา เป็นประโยชน์ต่อการสร้างงานสร้างอาชีพ และสร้างโอกาสให้ประชาชนชาวกัมพูชา นอกจากนี้ ซีพีเอฟ ยังได้จัดจ้างชาวกัมพูชาจำนวนมากทำงานในประเทศไทย ซึ่งช่วยสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศกัมพูชาอย่างมาก
นายอิต ซอมเฮง กล่าวย้ำว่า ซีพีเอฟ และ ซี.พี.กัมพูชา ยังเป็นบริษัทที่มีการบริหารจัดการด้านแรงงานตามหลักสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง ให้ความสำคัญกับการจัดจ้างแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย และยึดมั่นตามแนวปฏิบัติด้านแรงงานอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมสอดคล้องกับมาตรฐานสากล และสนับสนุนให้บริษัทเดินหน้าขยายการลงทุนในกัมพูชาอย่างต่อเนื่อง
ด้านนายปรีดา กล่าวว่า ซี.พี.กัมพูชาได้ดำเนินธุรกิจในประเทศกัมพูชามาเป็นระยะเวลา 26 ปี และให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจในกัมพูชามาโดยตลอด ได้รับการสนับสนุนที่ดีจากรัฐบาลกัมพูชารวมทั้งกระทรวงแรงงานและการฝึกอาชีพ บริษัทฯ ยึดมั่นในการปฏิบัติด้านแรงงานอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมตามหลักสากล รวมถึงสนับสนุนให้มีการพัฒนาทักษะฝีมือและขีดความสามารถแรงงานของบริษัทอย่างต่อเนื่อง ร่วมสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรและยกระดับมาตรฐานการผลิตอาหารปลอดภัยตลอดห่วงโซ่อุปทานแก่ผู้บริโภคชาวกัมพูชา
นางสาวพิมลรัตน์ กล่าวว่า ปัจจุบัน สถานประกอบกิจการของซีพีเอฟในประเทศไทย มีการจัดจ้างแรงงานต่างชาติจำนวน 8,042 คน และยังต้องการแรงงานเพิ่มอีก 2,000 อัตรา โดยซีพีเอฟมีนโยบายการจัดจ้างแรงงานต่างชาติ รวมทั้งชาวกัมพูชาเป็นพนักงานของบริษัทฯ โดยตรง มีกระบวนการจ้างเป็นไปตามมาตรฐานสากล ที่สำคัญแรงงานทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาค และเท่าเทียมรวมถึงค่าตอบแทนและสวัสดิการต่างๆ อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความรู้ และทักษะที่จำเป็นในการทำงาน และมีขีดความสามารถในการใช้เทคโนโลยีเพื่อให้ก้าวทันกับสถานการณ์
ซีพีเอฟยังได้ร่วมมือกับมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (Labour Protection Network Foundation) ในการดำเนินโครงการช่องทางรับฟังเสียงพนักงาน Labour Voice Hot Line by LPN ต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560 เพื่อเปิดโอกาสให้แรงงานได้แจ้งเรื่อง หรือขอคำแนะนำกับเจ้าหน้าที่ในภาษากัมพูชา และภาษาเมียนมา รวมถึงการอบรมให้ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน ความปลอดภัยและสุขอนามัยในการทำงาน ส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิแรงงาน
ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ซีพีเอฟมีมาตรการความปลอดภัยและสุขอนามัยเพื่อดูแลความปลอดภัยของพนักงานทุกคนรวมถึงพนักงานชาวกัมพูชาให้มีความปลอดภัยจากโรคระบาดตั้งแต่การเดินทาง สถานที่งานและที่พัก พร้อมทั้งยังได้ดูแลและอำนวยความสะดวกให้พนักงานกัมพูชาในระหว่างการทำงานและอาศัยอยู่ในประเทศไทยอย่างมั่นใจ ขณะที่บริษัทฯ ยังได้จัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ฉีดให้กับพนักงานทุกคนอย่างเพียงพอ ส่งผลให้ในปี 2564 ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้รับรางวัลด้านสิทธิมนุษยชนจากหลายองค์กร อาทิ รางวัล “องค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชนดีเด่น” ประจำปี 2564 ประเภทองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ จากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม รางวัลองค์กรดีเด่นที่น่าทำงานด้วยมากที่สุดในเอเชีย 2021 จากนิตยสาร HR Asia นิตยสารด้านทรัพยากรบุคคลระดับภูมิภาคเอเชีย และล่าสุดได้รับรางวัล รายงานความยั่งยืนยอดเยี่ยมระดับภูมิภาคเอเชีย ประจำปี 2021 ระดับสูงสุด Gold Medal ด้านสิทธิมนุษยชน อีกด้วย
พร้อมกันนี้ คณะผู้บริหารของซีพีเอฟและซี.พี.กัมพูชา ยังได้ลงพื้นที่ในจังหวัดกัมปอต เพื่อเยี่ยมชาวกัมพูชาที่เคยมาทำงานกับซีพีเอฟในประเทศไทย ซึ่งทุกคนกล่าวว่าภูมิใจที่ได้มาทำงานร่วมกับซีพีเอฟ และมีส่วนช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวดีขึ้น และยินดีที่จะกลับมาทำงานกับซีพีเอฟอีกด้วย
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีแนวทางในการสนับสนุน และส่งเสริมการศึกษาผ่านความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในประเทศกัมพูชา และประเทศไทย เพื่อต่อยอดการศึกษาให้แก่นิสิต-นักศึกษาชาวกัมพูชาได้มีโอกาสเข้ามาศึกษาในประเทศไทย และกลับไปเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาสังคมและประเทศกัมพูชาต่อไป