กรมอุทยานแห่งชาติฯ ผนึก ซีพี-เมจิ ปลูกป่าเขาวงจันแดง จ.ลพบุรี เดินหน้าสู่เป้าหมาย Net Zero

กรมอุทยานแห่งชาติฯ ผนึกกำลัง ซีพี-เมจิ ลงพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาวงจันแดง อ.ท่าหลวง จ.ลพบุรี ปลูกต้นไม้ 600 ต้น ภายใต้โครงการ “ซีพี-เมจิ รักษ์ป่า รักษ์น้ำ รักแผ่นดิน” เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ผืนป่า ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ควบคู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชน

โครงการ “ซีพี-เมจิ รักษ์ป่า รักษ์น้ำ รักแผ่นดิน” ดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยความร่วมมือระหว่าง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช บริษัท ซีพี-เมจิ จำกัด พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กรมฯ ประชาชน และเครือข่ายจิตอาสา ลงพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาวงจันแดง ต.หัวลำ อ.ท่าหลวง จ.ลพบุรี ปลูกต้นไม้ 600 ต้น เนื่องในวันต้นไม้ประจำปีของชาติ และวันสิ่งแวดล้อมโลก ประจำปี 2565 ภายใต้เป้าหมายปลูกต้นไม้ 16,000 ต้น ในพื้นที่ 80 ไร่ ในปี 2565 เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ผืนป่า ฟื้นฟูความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงรักษาแหล่งต้นน้ำสำคัญของคลองลำพญากลาง คลองลำสนธิ และแม่น้ำป่าสัก ที่ประชาชนในพื้นที่ จ.ลพบุรี สระบุรี และพื้นที่ใกล้เคียง นำไปใช้ในการอุปโภค บริโภค ตลอดจนประกอบอาชีพทางการเกษตร ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชน รวมถึงขับเคลื่อนเป้าหมายเครือเจริญโภคภัณฑ์มุ่งสู่องค์กรลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) และสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) ในประเด็นการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)

ว่าที่ ร.ท.รุ่งศักดิ์ ขุนวิเศษ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 สาขาสระบุรี กล่าวว่า ขอบคุณ ซีพี–เมจิ ที่เข้ามาจัดกิจกรรมในพื้นที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 สาขาสระบุรี ซึ่งให้ความสำคัญกับทรัพยากรป่าไม้ และต้องการมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติให้อุดมสมบูรณ์ เพื่อช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์และลดภาวะโลกร้อน โดยตั้งแต่มีการลงนามความร่วมมือระหว่างกรมฯ และซีพี-เมจิ ในปี 2564 ผืนป่าบริเวณ อุทยานแห่งชาติน้ำตกสามหลั่น มีความอุดมสมบูรณ์ขึ้น พบการกระจายตัวของสัตว์ป่ามากขึ้น ปีนี้ ดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาวงจันแดง นอกจากจะมีการปลูกป่าบนพื้นที่ 80 ไร่แล้ว ทาง ซีพี-เมจิ ยังสนับสนุนซื้ออุปกรณ์ดับไฟป่า และช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่าของกรมอุทยานแห่งชาติฯ อีกด้วย

“พื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาวงจันแดง มีพื้นที่มากกว่า 5 หมื่นไร่ มีสัตว์ป่าและพันธุ์พืชหายากหลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์ป่าสงวน เช่น เลียงผา การที่ภาคเอกชนเข้ามาทำกิจกรรมปลูกป่าและป้องกันไฟป่า จะช่วยรักษาที่อยู่ของสัตว์ป่า และป้องกันไม่ให้สัตว์ป่าได้รับอันตราย” ว่าที่ ร.ท.รุ่งศักดิ์ กล่าว

ด้าน นางสาวชาลินี พูนลาภมงคล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ซีพี-เมจิ กล่าวว่า บริษัทฯ มีความยินดีเป็นอย่างมากที่ได้ร่วมมือกับกรมอุทยานแห่งชาติฯ ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และร่วมดูแลสิ่งแวดล้อม โดยในปีนี้ มีแผนปลูกป่าเพิ่มอีก 80 ไร่ พื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาวงจันแดง จ.ลพบุรี เพื่อฟื้นฟูป่า ระบบนิเวศน์ และแหล่งต้นน้ำ ทำให้เกิดประโยชน์กับชุมชนรอบข้าง สร้างจิตสำนึกให้คนในชุมชนดูแลผืนป่า นอกจากนี้ยังมอบอุปกรณ์ป้องกันไฟป่าแก่เจ้าหน้าที่อุทยานฯ เพื่อใช้ในการปฏิบัติงานอีกด้วย

“นโยบายเพิ่มพื้นที่สีเขียวของซีพี-เมจิ สอดคล้องกับเป้าหมายใหญ่ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ดังนั้นบริษัทฯ จึงดำเนินโครงการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยสร้างร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุทยานแห่งชาติแห่งชาติฯ เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ” นางสาวชาลินี กล่าว

ซีพี-เมจิ ดำเนินนโยบายด้านความยั่งยืน ภายใต้แนวคิด การเพิ่มคุณค่าชีวิต ให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในสังคม และสิ่งแวดล้อม โดยริเริ่มโครงการ “ซีพี-เมจิ รักษ์ป่า รักษ์น้ำ รักแผ่นดิน” และร่วมมือกับ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ ตั้งแต่ปี 2564 ในเขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกสามหลั่น และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ต่อเนื่องมาถึงเขตห้ามล่าสัตว์ป่า เขาวงจันแดง จังหวัดลพบุรี ในปี 2565 พื้นที่รวม 150 ไร่ (ปี 2564-2565) ทั้งนี้ บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ครบจำนวน 1,000 ไร่ ในปี 2573