นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ( 6 ส.ค. 64) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 37,696 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีกรวม 38,370 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 8,141 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีกรวม 16,730ล้าน ลบ.ม. ในขณะที่มีการเพาะปลูกข้าวนาปีไปแล้วทั้งประเทศรวม 13.26 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 78.79 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพาะปลูกไปแล้ว 6.23 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 78.17 ของแผนฯ สำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำ ที่ในปีนี้ (2564) มีแผนเพาะปลูกรวมทั้งสิ้น 265,000 ไร่ เกษตรกรได้ทำการเพาะปลูกเต็มพื้นที่และเริ่มเก็บเกี่ยวไปแล้วกว่า 170,000 ไร่ ทั้งนี้คงเหลือพื้นที่การเก็บเกี่ยวอีกประมาณ 95,000 ไร่ หลังจากนั้นจะใช้พื้นที่ดังกล่าว เป็นพื้นที่รับน้ำหลากจากลุ่มน้ำยมตอนบนในระยะต่อไป เพื่อป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจและบรรเทาอุทกภัยในเขตจังหวัดสุโขทัย และจังหวัดพิษณุโลก รวมไปถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างด้วย
สำหรับสถานการณ์อุทกภัย ในพื้นที่ 7 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “เจิมปากา” และหย่อมความกดอากาศต่ำ นั้น ปัจจุบันสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติทุกพื้นที่แล้ว แต่ยังคงให้ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง ตามการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาว่า ยังคงมีปริมาณฝนตกปานกลางถึงตกหนักในบางพื้นที่ ในช่วงวันที่ 6 – 8 สิงหาคม 2564 นี้ จึงได้กำชับไปยังโครงการชลประทานทั่วประเทศ ให้ปฏิบัติตามมาตรการรับมือฤดูน้ำหลากอย่างเคร่งครัด พร้อมบริหารจัดการน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม(RULE CURVE) และเหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ ควบคู่ไปกับการเก็บกัก ตามข้อสั่งการของรัฐบาล โดยกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กอนช.) รวมทั้งตรวจสอบความพร้อมของอาคารชลประทานให้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ พร้อมกำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่ประสานกับหน่วยงานระดับจังหวัดทำการประชาสัมพันธ์ถึงสถานการณ์น้ำรวมทั้งการแจ้งเตือนต่างๆ ไปยังประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำจากทางหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด หากต้องการความช่วยเหลือ สามารถร้องขอไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่ หรือโทร 1460 สายด่วนกรมชลประทาน ได้ตลอดเวลา