กรมชลประทาน ชี้แจงกรณีที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้ง ที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกร โดยเฉพาะชาวนาที่ในพื้นที่อำเภอพรหมพิราม จ.พิษณุโลก ประสบปัญหาภัยแล้งหนักมาก เนื่องจากกรมชลประทานไม่จัดสรรน้ำเข้าคลองชลประทานให้เกษตรกร อ้างว่าน้ำที่มีสำรองไว้ผลักดันน้ำเค็ม จึงไม่สามารถส่งน้ำเข้าคลองสาขาได้ ในขณะที่พื้นที่จังหวัดสุโขทัยที่ติดกับพิษณุโลก ได้รับการจัดสรรน้ำเป็นจำนวนมาก นั้น
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่าในช่วงต้นฤดูฝนปี 2564 ปริมาณน้ำต้นทุนใน 4 เขื่อนหลัก ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 มีปริมาณน้ำใช้การได้เพียง 2,265 ล้านลูกบาศก์กเมตร อยู่ในเกณฑ์น้อย ส่งผลให้ไม่เพียงพอที่จะส่งน้ำให้เกษตรกรในลุ่มเจ้าพระยาเพาะปลูกข้าวนาปีทั้งหมด 7.76 ล้านไร่ได้ นอกเหนือจากการระบายน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และพืชต่อเนื่อง ซึ่งสามารถสนับสนุนได้เพียงเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ ที่กรมชลประทานกำหนดให้เป็นพื้นที่รองรับน้ำหลากบรรเทาอุทกภัยในเขตจังหวัดสุโขทัยและจังหวัดพิษณุโลก 265,000 ไร่ ส่วนพื้นที่ที่เหลือต้องเพาะปลูกเมื่อมีปริมาณน้ำฝนในพื้นที่สม่ำเสมอซึ่งจากสภาพฝนที่ตกมากกว่าปกติในเดือนเมษายน 2564 ในภาคเหนือ 195.8 มิลลิเมตร มากกว่าค่าปกติร้อยละ 175 และภาคกลาง 165.8 มิลลิเมตร มากกว่าค่าปกติร้อยละ 109 ทำให้เกษตรกรบางส่วนอาศัยน้ำฝนในการทำนาปี จนถึงขณะนี้มีพื้นที่ปลูกข้าวนาปีไปแล้วประมาณ 4.2 ล้านไร่ ซึ่งในจำนวนนี้รวมพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ 265,000 ไร่อยู่ด้วย
สำหรับพื้นที่อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก ในเขตชลประทานทั้งสิ้น 160,847 ไร่ พบว่าอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำที่เพาะปลูกข้าวแล้ว 106,914 ไร่ และมีพื้นที่ดอนเพาะปลูกข้าวแล้วประมาณ 30,120 ไร่ ยังเหลือพื้นที่ดอนยังไม่ได้เพาะปลูกข้าวอีกประมาณ 23,813 ไร่ ซึ่งต้องอาศัยน้ำฝนในปริมาณที่สม่ำเสมอ จึงจะทำการเพาะปลูกได้เช่นเดียวกับพื้นที่ที่ยังไม่ได้เพาะปลูกข้าวนาปีอีก 3.54 ล้านไร่ ทั้งนี้ ในส่วนของพื้นที่ที่มีการเพาะปลูกข้าวนาปีไปแล้ว กรมชลประทาน จะเร่งดำเนินการช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ส่วนพื้นที่ที่ยังไม่ได้ทำการเพาะปลูกส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ดอน ขอให้เกษตรกรชะลอการปลูกข้าวนาปีออกไปก่อน จนกว่าจะมีปริมาณฝนตกสม่ำเสมอหรือมีปริมาณน้ำในพื้นที่อย่างเพียงพอ เพื่อลดความสี่ยงผลผลิตเสียหาย
ในส่วนของข้อร้องเรียนที่กล่าวอ้างว่า กรมชลประทานไม่จัดสรรน้ำเข้าคลองชลประทานให้เกษตรกร โดยอ้างว่าน้ำที่มีสำรองไว้เพื่อผลักดันน้ำเค็ม จึงไม่สามารถส่งน้ำเข้าคลองสาขาได้ นั้น ขอชี้แจงว่า ภายใต้ข้อจำกัดของปริมาณน้ำต้นทุนในลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่อยู่ในเกณฑ์น้อย นอกเหนือจากภาคการเกษตรที่ต้องดูแลแล้ว การบริหารจัดการน้ำยังต้องคำนึงถึงการใช้น้ำตามความสำคัญและความจำเป็นในภาคส่วนอื่นด้วย เมื่อพิจารณาในระบบลุ่มน้ำจากปริมาณฝนที่ตกน้อย ทำให้มีการใช้น้ำเพื่อการเกษตรจากทั้งสองฝั่งของแม่น้ำปิง แม่น้ำน่าน และลำน้ำสาขา ทั้งในระบบชลประทานและที่ดูแลโดยองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ส่งผลให้ปริมาณน้ำที่จะไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่างอยู่ในเกณฑ์น้อย ทำให้ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง จนไม่สามารถรับน้ำเข้าคลองด้วยแรงโน้มถ่วงได้ตามปกติ(Gravity) อีกทั้งยังมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีบริเวณดังกล่าวอีกกว่า 300,000 ไร่ ส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาค 7 สาขา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในพื้นที่จังหวัดลพบุรี กรมชลประทาน จึงร่วมบูรณากับจังหวัดชัยนาท นครสวรรค์ ลพบุรี และสระบุรี ดำเนินการบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วม จนถึงขณะนี้สถานการณ์คลี่คลายไปได้ด้วยดี ด้วยการจัดรอบเวรการส่งน้ำ เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคในทุกพื้นที่ รวมไปถึงการผลักดันน้ำเค็มเพื่อรักษาระบบนิเวศอีกด้วย
ทั้งนี้ กรมชลประทาน จะเร่งบริหารจัดการน้ำเพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ จากสถานการณ์ฝนน้อยหรือฝนทิ้งช่วงอย่างเต็มความสามารถ ตามข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้กำชับให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดูแลเกษตรกรที่ปลูกข้าวนาปีในทุกพื้นที่ทั่วประเทศอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ลดความเสียหายที่จะเกิดกับผลผลิตให้มากที่สุด หากประชาชนหรือหน่วยงานใดต้องการความช่วยเหลือสามารถร้องขอไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่ หรือโทร 1460 ได้ตลอดเวลา