ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศว่า ปัจจุบัน(24 มิ.ย. 63) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันประมาณ 32,226 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็นร้อยละ 42 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 8,577 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 7,672 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 31 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 976 ล้าน ลบ.ม. ด้านผลการจัดสรรน้ำฤดูฝนทั้งประเทศ ปัจจุบัน (24 มิ.ย. 63) มีการใช้น้ำไปแล้ว 4,185 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 34 ของแผนจัดสรรน้ำฯ เฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้ว 1,447 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 45 ของแผนจัดสรรน้ำฯ คงเหลือน้ำที่จะจัดสรรได้อีกเพียง 1,803 ล้าน ลบ.ม.
ทั้งนี้ จากการติดตามปริมาณน้ำไหลงลงอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่งทั่วประเทศ (1 ม.ค. – 24 มิ.ย. 63) พบว่ามีน้ำไหลลงอ่างฯสะสมรวมกันประมาณ 3,117 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 8 ของค่าเฉลี่ยน้ำไหลงลงอ่างฯทั้งปี ถือได้ว่าอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างน้อย แนวโน้มสถานการณ์น้ำในปีนี้จะคล้ายกับปี 2558 ที่มีปริมาณน้ำไหลงลงอ่างฯรวมกันเพียง 3,735 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 10 ของค่าเฉลี่ยน้ำไหลลงอ่างฯทั้งปี ประกอบกับในช่วงตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงประมาณกลางเดือนกรกฎาคม 2563 ประเทศไทยจะมีปริมาณฝนลดลงจนอาจเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง ตามการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา
กรมชลประทาน ได้วางแนวทางบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสภาพฝนที่ตกลงมาในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ในแต่ละอ่างฯให้เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ โดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา สถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลัก ยังคงมีน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย จากสภาพฝนที่ตกน้อยทางตอนบนของภาคเหนือ ส่งผลให้มีน้ำไหลลงอ่างฯน้อยตามไปด้วย จำเป็นต้องจัดสรรน้ำอย่างรัดกุม เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดเพียงพอใช้ต่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศไปจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้
อย่างไรก็ตาม กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดการณ์ว่าหลังกลางเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป จะมีปริมาณฝนตกเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยปกติ ซึ่งจะส่งผลให้อ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำธรรมชาติ และแม่น้ำสายต่างๆ มีปริมาณน้ำเพิ่มมากขึ้นในระยะต่อไป จึงขอให้พี่น้องเกษตรกรที่ยังไม่ได้ทำการเพาะปลูก วางแผนการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับสภาพฝนที่ตกและปริมาณน้ำท่าในพื้นที่ ส่วนเกษตรกรที่ได้เริ่มทำการเพาะปลูกไปแล้ว ขอห้ใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติและแหล่งน้ำในพื้นที่ของตนเป็นหลัก