สิงห์อาสา ร่วมกับ เครือข่ายนักศึกษาสิงห์อาสา 10 สถาบันภาคเหนือ, สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ และประชาชนในพื้นที่ ร่วมป้องกันไฟป่า 14 จังหวัดพื้นที่เสี่ยงไฟป่าทั่วประเทศ ทั้งภาคเหนือ, ตะวันออกเฉียงเหนือ, ตะวันออก, ตะวันตก ในโครงการ "สิงห์อาสาสู้ไฟป่า” จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 โดยสนับสนุนการป้องกันไฟป่า เน้นที่เชียงใหม่ เชียงราย น่าน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากไฟป่าและฝุ่นควันจำนวนมาก พร้อมต่อยอดขยายผล “ห้องเรียนปลอดฝุ่น” เป็นปีที่ 2 สู่จังหวัดพื้นที่เสี่ยงฝุ่น PM 2.5 ในภาคเหนือ
จากปัญหาไฟป่าและวิกฤติฝุ่นควันโดยเฉพาะในภาคเหนือได้สร้างมลภาวะส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่มาอย่างยาวนาน จากการตรวจวัดคุณภาพอากาศและการจัดการเมืองที่มีมลพิษแย่ที่สุดของโลก US AQI พบว่าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จ.เชียงใหม่ มีคุณภาพอากาศอยู่อันดับ 5 ของเมืองที่คุณภาพแย่ที่สุด 167 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งฝุ่น PM 2.5 ส่งผลกระทบทำให้มีผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับโรคทางเดินหายใจเป็นจำนวนมาก ทั้งผู้ป่วยที่แสดงอาการทันที หรือสะสมในร่างกายจนส่งผลเสียในระยะยาว
เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 66 ที่สถานีควบคุมไฟป่าศรีลานนา สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 จ.เชียงใหม่ “สิงห์อาสา” โดย มูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี และ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ร่วมกับ เครือข่ายนักศึกษาสิงห์อาสา 10 สถาบันภาคเหนือ, สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ และประชาชนในพื้นที่ จัดกิจกรรมเพื่อป้องกันไฟป่ากว่า 170 ชุมชน ใน 14 จังหวัดพื้นที่เสี่ยงไฟป่าทั่วประเทศ สานต่อโครงการ “สิงห์อาสาสู้ไฟป่า” โดยลงพื้นที่สนับสนุนอุปกรณ์ดับไฟป่า เช่น ถังฉีดน้ำ ไม้ตบไฟ ครอบ คราดสปริง รวมถึงรองเท้าเซฟตี้ดับไฟป่า ที่ได้รับจากพนักงานของบริษัทในเครือ บุญรอดฯ ทั่วประเทศ พร้อมด้วยอาหารพร้อมทาน (ข้าวรีทอร์ท) และน้ำดื่ม เพื่อสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ รวมถึงอาสาสมัครในพื้นที่ในภารกิจป้องกันและดับไฟป่า และให้การอบรมทำแนวกันไฟ มุ่งสนับสนุนให้ชุมชนร่วมรักษาป่าต้นน้ำให้อุดมสมบูรณ์ เพื่อป้องกันไฟป่า ลดปัญหาฝุ่นควัน พร้อมต่อยอดขยายผล “ห้องเรียนปลอดฝุ่น” เป็นปีที่ 2 สู่จังหวัดพื้นที่เสี่ยงฝุ่น PM 2.5 ในภาคหนือ ร่วมกับอาจารย์และทีมงานจากคณะทำงานด้านวิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และศูนย์วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งในปีที่ผ่านมาได้เริ่มต้นสร้างห้องเรียนปลอดฝุ่นจำนวน 5 ห้องเรียนใน 4 จังหวัดทางภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน และน่าน และในปี 2566 นี้จะขยายเพิ่มอีก 10 ห้อง เพื่อให้เด็ก ๆ มีอากาศบริสุทธิ์ไว้ใช้ในการเรียนการสอน ได้ทำกิจกรรมในห้องที่ปลอดฝุ่น สร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายในระยะยาว
นายประโภชน์ เกิดเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เชียงใหม่เบเวอเรช จำกัด เปิดเผยว่า เชียงใหม่ เบเวอเรช หนึ่งในเครือบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ในฐานะประชาชนของจังหวัดเชียงใหม่ ได้ให้ความสำคัญกับการร่วมแก้ไขป้ญหาไฟป่าและสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับชาวเชียงใหม่มาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายหลักคือ องค์กร สังคม สิ่งแวดล้อม ต้องอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน ซึ่งปัญหาไฟป่าและวิกฤติฝุ่นควันในพื้นที่เชียงใหม่ กลายเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่อย่างยิ่ง โครงการสิงห์อาสาสู้ไฟป่า ที่เราจัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 5 เป็นโครงการที่ป้องกันและทำให้การจัดการเรื่องไฟป่าและฝุ่นควันเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยร่วมมือกับเครือข่ายต่างๆ จัดอบรมทำแนวกันไฟให้กับประชาชน ตั้งจุดเฝ้าระวังในพื้นที่เสี่ยงไฟป่า เพื่อให้สามารถจัดการแก้ปัญหาดับไฟป่าได้อย่างทันท่วงที โดยมีการสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครให้มีประสิทธิภาพและปลอดภัย เช่น มอบอุปกรณ์ที่ใช้ในการดับไฟ พร้อมเสบียงอาหารน้ำดื่ม และมีรองเท้าโรงงานสู่แนวหน้าไฟป่า ที่บริษัท เชียงใหม่เบเวอเรช จำกัด ได้เป็นแม่ข่ายในการระดมรองเท้าเซฟตี้มาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 มากกว่า 1,000 คู่จากทุกบริษัทในเครือ บุญรอดฯ ทั่วประเทศ เพื่อนำมามอบให้กับเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครในพื้นที่ที่ต้องเผชิญกับไฟป่า ตลอดจนสร้างห้องเรียนปลอดฝุ่นในพื้นที่เสี่ยงฝุ่นควันภาคเหนือ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2
นายพงศ์ภาวัต ใหญ่วงศ์กรณ์ ผู้อำนวยการส่วนควบคุมและปฏิบัติการไฟป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่16 เชียงใหม่ เผยว่า “ปัญหาไฟป่าและวิกฤติฝุ่นควันในปัจจุบัน ยังคงส่งผลกระทบต่อทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหาสุขภาพของประชาชนโดยเฉพาะในภาคเหนือเป็นประจำทุกปี โดยทางสำนักฯ ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบมีหน้าที่ในการดูแลปัญหาไฟป่าก็ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ และได้ทำงานเชิงรุก เช่น ประชาสัมพันธ์โทษของไฟป่า จนชาวบ้านเข้าใจและปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตมากขึ้น และยังได้รับความร่วมมืออย่างต่อเนื่องจากสิงห์อาสา ทำให้แนวทางการลดปัญหาไฟป่าและฝุ่นควันเห็นภาพความสำเร็จชัดเจนมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ การอบรมครั้งนี้ยังสามารถไปถ่ายทอดต่อคนในหมู่บ้านได้ เป็นประโยชน์ในระยะยาวให้พวกเราได้ดูแลท้องถิ่นของตนเองต่อไป”