ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน กล่าวว่า ผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งทั้งประเทศ ล่าสุด (30 เม.ย. 63) มีการใช้น้ำไปแล้ว 17,053 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 96% ของแผนจัดสรรน้ำ เฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการใช้น้ำไปแล้ว 4,595 ล้าน ลบ.ม. เกินแผนไป 2% ของแผนจัดสรรน้ำที่วางไว้ ทั้งนี้ สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ล่าสุด มีปริมาณน้ำในอ่างรวมกันประมาณ 33,830 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 48% ของความจุอ่างฯ และเป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 10,521 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 8,649 ล้าน ลบ.ม. หรือ 35% ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 1,953 ล้าน ลบ.ม.
จากสถานการณ์ภัยแล้งตอนนี้ กรมชลประทาน ได้ให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีพื้นที่ได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 10 จังหวัด รวมเป็น 60 จังหวัด 205 อำเภอ 329 ตำบล 658 หมู่บ้าน ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง ซึ่งมีพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำด้านการอุปโภคบริโภค 69 แห่ง และพื้นที่ขาดแคลนน้ำด้านการเกษตร 67 แห่ง โดยมีการสนับสนุนรถบรรทุกน้ำ 67 คัน (รวมปริมาณน้ำสะสมประมาณ 5 ล้านลิตร) เครื่องสูบน้ำ 392 เครื่อง (รวมปริมาณน้ำสะสมประมาณ 14 ล้าน ลบ.ม.) และเครื่องจักรสนับสนุนอื่นๆอีก 158 หน่วย นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการขุดลอกแหล่งน้ำ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำดิบสำหรับผลิตประปาอีก 53 แห่งด้วย
อย่างไรก็ตาม อีกไม่กี่สัปดาห์จะเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาว่าฤดูฝนปีนี้ จะมีปริมาณฝนดีกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งหากเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ จะช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งให้ทุเลาเบาบางลงได้ และแม่น้ำสายหลัก ลำน้ำสาขา แหล่งน้ำธรรมชาติ รวมถึงอ่างเก็บน้ำต่างๆ จะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น ในส่วนของการเพาะปลูกนั้น คงต้องรอการประกาศเข้าสู่ฤดูฝนจากกรมอุตุนิยมวิทยา ประกอบกับต้องมีปริมาณฝนตกอย่างสม่ำเสมอ และปริมาณน้ำเก็บกักในแหล่งน้ำธรรมชาติมากพอที่จะทำการเกษตรได้ หากประชาชนหรือหน่วยงานใดต้องการความช่วยเหลือเรื่องน้ำ สามารถประสานไปยังโครงการชลประทานใกล้บ้านได้ตลอดเวลา หรือโทร.สายด่วน กรมชลประทาน 1460