หวั่นโควิด-19 ระลอกใหม่ ทุบเศรษฐกิจพัง 4.5 หมื่นล้านบาท

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินโควิด-19 ระบาดระลอกใหม่ ถ้าสถานการณ์ลากยาว 1 เดือน กระทบเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรม คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 4.5 หมื่นล้านบาท

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รอบใหม่ ที่เริ่มต้นจากตลาดกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อต้นเดือน ธ.ค.2563 และนำมาสู่การล็อกดาวน์ชั่วคราวจังหวัดสมุทรสาคร ตั้งแต่ 19 ธ.ค.2563 ถึง 3 ม.ค.2564 และ ยังพบจำนวนผู้ติดเชื้อกระจายตัวไปยังพื้นที่ต่างๆ ในหลายจังหวัดของประเทศไทย

เบื้องต้น ภายใต้กรณีที่ไม่พบคลัสเตอร์ของจำนวนผู้ติดเชื้อในจังหวัดอื่น หรือเหตุการณ์ไม่ลุกลามจนนำมาสู่การล็อกดาวน์เป็นวงกว้าง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทย อาจได้รับความสูญเสีย คิดเป็นมูลค่าราว 45,000 ล้านบาท ในกรอบเวลา 1 เดือน

จำแนกผลกระทบได้ ดังนี้ 

ความสูญเสียที่เกี่ยวเนื่องกับสินค้าประมงและอาหารทะเล ที่อาจมีมูลค่ารวมกันราว 13,000 ล้านบาท จากความเป็นไปได้ที่อาจจะเกิดการชะลอการบริโภคสินค้าประมงและอาหารทะเลในระยะสั้น นอกจากนี้ การส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวในระยะถัดไปก็อาจจะได้รับผลกระทบบ้างโดยเฉพาะในด้านขั้นตอนการตรวจสอบและกระบวนการต่างๆ ที่คู่ค้าอาจหยิบยกให้ผู้ประกอบการไทยมีการดำเนินการเพิ่มเติม ถึงแม้ขณะนี้จะยังไม่มีการยกเลิกคำสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้าก็ตาม

ทั้งนี้ สมุทรสาคร นับเป็นแหล่งวัตถุดิบหลักในธุรกิจการประมงและการแปรรูปสัตว์น้ำ โดยปริมาณสัตว์น้ำสดที่ใช้ในธุรกิจการประมงและการแปรรูปสัตว์น้ำเค็ม มีสัดส่วนเกือบ 40% ของทั้งประเทศ (ไม่รวมวัตถุดิบนำเข้า)การล็อกดาวน์ จึงส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการค้าและการผลิตหมวดนี้ไม่น้อย

อย่างไรก็ดี การสร้างความเชื่อมั่นต่อความปลอดภัยของสินค้าและกระบวนการผลิตโดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน คงจะช่วยบรรเทาผลกระทบได้ นอกจากนี้ ผลกระทบดังกล่าวยังนับว่าอยู่ในขอบเขตที่ค่อนข้างจำกัด จากการที่ผู้บริโภคและผู้ใช้วัตถุดิบยังมีทางเลือกในการซื้อและจัดหาสินค้าจากแหล่งอื่น อีกทั้งมีประเภทอาหารที่หลากหลายและเพียงพอ ขณะที่โดยปกติประชาชนส่วนใหญ่ก็นิยมบริโภคสินค้าประมงและอาหารทะเลในสัดส่วนที่น้อยกว่าเนื้อสัตว์อย่างหมูและไก่อยู่แล้ว

ความสูญเสียจากการที่ประชาชนชะลอการทำกิจกรรมในช่วงเฉลิมฉลองปีใหม่ โดยเฉพาะคนที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ คิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 15,000 ล้านบาท ได้แก่ การเลี้ยงสังสรรค์ การจัดกิจกรรมต่างๆ การลดความถี่ในการใช้จ่ายที่ร้านค้าปลีก เป็นต้น (ไม่รวมการเดินทางท่องเที่ยว) ขณะที่ ประชาชนอาจมีการจัดหาหรือสำรองสินค้าจำเป็น เช่น หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ อาหารพร้อมปรุง/พร้อมทาน เป็นต้น เพิ่มเติมจากช่วงก่อนหน้านี้บ้าง รวมทั้งคงจะหันไปทำกิจกรรมผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้นแทนการออกมาทำกิจกรรมนอกบ้าน

ความสูญเสียจากการชะลอการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ คิดเป็นเม็ดเงินที่หายไปประมาณ 17,000 ล้านบาท หรือราว 30% ของรายได้ท่องเที่ยวในช่วงเวลา 1 เดือน ภายใต้กรณีที่ยังไม่ได้มีประกาศห้ามการเดินทางข้ามจังหวัด โดยพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ ได้แก่ จังหวัดในภาคตะวันตกและภาคกลาง รวมกรุงเทพฯ ตลอดจนจังหวัดรอยต่อชายแดนระหว่างไทยและเมียนมา อย่างไรก็ดี ประชาชนบางส่วนที่ยังต้องการเดินทางท่องเที่ยวในระยะเวลาใกล้ๆ นี้ อาจจะมีการปรับเปลี่ยนจุดหมายปลายทางไปยังพื้นที่หรือจังหวัดที่ไม่พบจำนวนผู้ติดเชื้อทดแทนได้เช่นกัน

นอกจากนี้แล้ว โควิด-19 รอบใหม่ ยังอาจสร้างผลกระทบด้านอื่นๆ ที่ไม่สามารถประเมินมูลค่าได้อย่างชัดเจนด้วย อาทิ ผลกระทบต่อรายได้ของผู้ประกอบการที่ค้าขายสินค้าอื่นๆ ในตลาด จากการที่ผู้คนหลีกเลี่ยงการสัญจรโดยเฉพาะการสัญจรไปในพื้นที่ที่มีการระบาดหรือพบผู้ติดเชื้อ เป็นต้น

ทั้งนี้ ผลกระทบจากการระบาดรอบใหม่ของ COVID-19 ที่สร้างความสูญเสียต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมข้างต้น เป็นกรอบการประเมินเบื้องต้นจนถึง ณ ขณะนี้เท่านั้น ซึ่งคงจะต้องมีการทบทวนและปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ขณะที่ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องคงจะต้องร่วมมือกันในการดูแลและจำกัดผลกระทบทั้งในมิติด้านสาธารณสุขและด้านเศรษฐกิจ เพื่อให้เหตุการณ์ค่อยๆ คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า หากการระบาดของ COVID-19 รอบใหม่ สามารถควบคุมได้ และภาครัฐมีมาตรการที่สร้างความมั่นใจให้กลับมาได้อย่างรวดเร็ว ก็มีโอกาสที่มูลค่าความสูญเสียจะต่ำกว่าตัวเลขที่ประเมินไว้