ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสเฟสบุ็คมีเนื้อหาถึงปัญหาการสลับชนิดฉีดวัคซีนโควิดว่า “ความสับสนที่เกิดขึ้นจากการไขว้วัคซีนว่า ต้นเหตุน่าจะเกิดขึ้นจากการที่หาวัคซีนไม่ได้ดังนั้น การจะแก้ความสับสนคือ “แก้ที่ต้นเหตุ” หาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพดีเข้ามาให้เพียงพอสำหรับคนไทย
สำหรับการไขว้วัคซีนเข็มที่หนึ่งและสองหมายความว่าวัคซีนเข็มเดียวแต่ละยี่ห้อก็มีประสิทธิภาพอยู่แล้ว และเมื่อมาใช้ร่วมกันจะได้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นไปอีกและอีกทั้งมีความสามารถเฉพาะเจาะจงกับสายพันธุ์ที่ต่างจากเดิมออกไปเช่นเดลต้ามากขึ้น
วัคซีนแอสตร้าจะเริ่มสร้างภูมิให้เห็นได้ชัดเจน 14 วันหลังจากฉีดเข็มแรก แต่ในทางกลับกันวัคซีนชิโนแวคจะเริ่มสร้างภูมิเกือบ 30 วันหลังฉีดเข็มที่สอง
ดังนั้นการไขว้ชิโนแวคต่อด้วยแอสตร้า จะไม่เป็นไปตามหลักการไขว้วัคซีนที่ปฏิบัติกันไปแล้วในแอสตร้ากับไฟเซอร์โมเดนา และนอกจากนั้นชิโนแวค ยังไม่มีความชัดเจนในประสิทธิภาพเจาะจงในการกันติดกับเดลต้าดังที่เห็นในชิลีตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมาหรือในบราซิลและในอินโดนีเซียเป็นต้นแต่ที่ประเทศจีนที่ได้ผลนั้นแม้จะยืนพื้นด้วยชิโนแวค เป็นเพราะมีการคัดกรองและแยกตัวอย่างดีเยี่ยมและเข้าถึงประชาชนทุกคนพร้อมกันนั้นคือการทำตามวินัยสูงสุด
การไขว้ชิโนแวคกับแอสตร้าอาจจะกลายเป็นเสียวัคซีนเข็มแรกไป และยิ่งไปกว่านั้น ภูมิที่ได้โดยไม่สามารถจับได้แน่นกับเดลต้า อาจจะกลายเป็นทำให้เกิดผลร้ายมากขึ้นโดยการที่ภูมิไปจับไวรัสและนำพาไปหาเซลล์ที่สร้างการอักเสบอย่างรุนแรงต่อ
ชิโนแวคเมื่อใช้ไปสองเข็มและภูมิลดลงอย่างรวดเร็ว ทดแทนได้ด้วยการกระตุ้นเข็มที่สามด้วยแอสตร้า ซึ่งช่วยให้ภูมิสูงขึ้นอย่างมากและขณะเดียวกันมีความสามารถเจาะจงกับเดลต้าได้มากขึ้น ซึ่งในระยะแรกควรใช้ในบุคลากรด่านหน้าที่ต้องรักษาผู้ป่วยและถ้าเกิดติดจะยิ่งแพร่เชื้อให้ผู้ป่วยได้มากขึ้นไปอีก
อนึ่ง ถึงแม้ว่าชิโนแวค ประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อจะลดลงเร็วรวมทั้งต่อสายเดลต้าแต่ก็ยังมีความดีงามในการบรรเทาความรุนแรงเมื่อติดเชื้อไปแล้วอย่างแน่นอน”