สิงห์อาสา โดยมูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี และบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ร่วมกับ หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ (หน่วยซีล) สร้างหลักสูตรกู้ภัยทางน้ำต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 จัดอบรม “หลักสูตรกู้ภัยทางน้ำ ประจำปี 2566” ต่อเนื่อง 5 วัน 5 คืน เพื่อเพิ่มทักษะและศักยภาพการกู้ภัยทางน้ำให้แก่อาสาสมัครกู้ภัย ที่ผ่านการคัดเลือกจำนวน 40 คน จาก 20 จังหวัด ได้เรียนรู้ ฝึกฝนภายใต้เหตุการณ์จำลองที่มีลักษณะใกล้เคียงกับความจริงมากที่สุด เช่น การจำลองช่วยเหลือตอนกลางคืน ณ ศูนย์ฝึกสงครามพิเศษทางเรือ หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ สัตหีบ จ.ชลบุรี
ทั้งนี้ จากสถิติการเสียชีวิตจากการจมน้ำมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องทุกปี โดยเพาะจากกลุ่มเด็กอายุ 5-14 ปีทั่วโลกที่มีสถิติสูงถึง 236,000 คน สำหรับในประเทศไทย เมื่อรวบรวมข้อมูลย้อนกลับไป 10 ปี พบว่ามี ผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำกว่า 36,403 คน ซึ่งเป็นภาวะวิกฤตที่องค์การอนามัยโลก ถึงขั้นระบุว่าเป็นปัญหาสำคัญทางด้านสาธารณสุขทั่วโลก
นายอรรถสิทธิ์ พรหมสุข ผู้จัดการฝ่ายงานกิจกรรมเพื่อสังคม บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด กล่าวว่า “ในแต่ละปีสิงห์อาสาได้ร่วมงานกับทีมอาสากู้ภัยในหลายจังหวัด ทำให้ทราบว่าหนึ่งในการช่วยผู้ประสบเหตุที่มีความสำคัญมากคือการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุทางน้ำ ซึ่งมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าการเกิดอุบัตเหตุทั่วไป การได้เรียนรู้ทักษะการช่วยเหลืออย่างถูกวิธี ไม่เพียงแค่จะเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตให้กับผู้ประสบเหตุ ยังช่วยทำให้ทีมอาสากู้ภัยได้เข้าช่วยเหลือด้วยความปลอดภัยด้วย ในแต่ละปีเราได้มีการพัฒนาหลักสูตรร่วมกับหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ บนความต้องการจากสถานการณ์จริง ซึ่งในปีนี้ได้จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 โดยตลอดหลักสูตร ผู้เข้าอบรมทุกคนจะได้เรียนรู้ตั้งแต่การดำน้ำเบื้องต้นไปจนถึงการช่วยเหลือในทะเลที่มีความซับซ้อนของโจทย์ปัญหามากขึ้นเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ทักษะการให้ความช่วยเหลือที่สามารถนำไปใช้งานได้จริง”
ทั้งนี้ หลักสูตรกู้ภัยทางน้ำ ถือเป็นหลักสูตรเดียวในประเทศไทย ที่ทางหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ(ซีล) จัดอบรมฝึกทักษะให้ทีมอาสาสมัครกู้ภัย ที่ผ่านการคัดเลือกเข้ารับการอบรมมาแบบเข้มข้น กับ 2 หลักสูตรใหญ่ ประกอบด้วย 1.กู้ภัยทางน้ำขั้นต้น และ 2.กู้ภัยทางน้ำแบบขั้นแอดวานซ์ โดยระดับแอดวานซ์ จะรับเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่ผ่านระดับขั้นต้นมาแล้ว
พลเรือตรี อนันท์ สุราวรรณ์ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ อธิบายว่า “หลายครั้งที่หน่วยซีลได้เข้าไปมีส่วนร่วมในภารกิจกู้ภัยท่ามกลางสถานการณ์ภัยพิบัติที่รุนแรง โดยใช้ความรู้ความชำนาญที่เกิดจากการฝึกฝนอย่างหนักเพื่อดูแลพี่น้องประชาชนให้ปลอดภัย โดยหน่วยซีลได้เก็บข้อมูลและถอดบทเรียนต่างๆ ไว้เป็นแนวทางรับมือหากเกิดเหตุการณ์คล้ายคลึงกัน และเป็นที่ทราบดีว่าอาสาสมัครกู้ภัยคือบุคลากรสำคัญที่มีเครือข่ายกระจายอยู่ในทุกพื้นที่ และจะเป็นกลุ่มแรกที่เข้าถึงพื้นที่เกิดเหตุได้เร็วที่สุด หลักสูตรกู้ภัยทางน้ำปี 6 จึงได้มีการออกแบบหลักสูตรที่จะยกระดับให้อาสาสมัครกู้ภัยมีความพร้อมที่จะแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่ซับซ้อน ซึ่งการอบรมในครั้งนี้อาสาสมัครต้องฝึกปฏิบัติท่ามกลางอุปสรรคปัญหาเสมือนจริงที่เต็มไปด้วยความยากลำบาก เช่น สภาพแวดล้อมวิกฤติรุนแรง น้ำขุ่นบดบังทัศนวิสัย หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงกลางคืนที่มืดมิด โดยการปิดตาดำดิ่งสู่น้ำลึกและหนาวเย็น ซึ่งหน่วยซีลจะสอนประกบอย่างใกล้ชิดอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นในหลักสูตรใด เพื่อให้อาสาสมัครกู้ภัยสามารถเข้าให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยภายในระยะเวลาอันรวดเร็วและปลอดภัย ให้ทุกคนได้มีโอกาสกลับคืนสู่ครอบครัวอีกครั้ง”
นายตะวัน คงบุญวาสน์ ตัวแทนอาสาสมัครจากหน่วยกู้ภัยอโสกร่องคำ จ.กาฬสินธุ์ เล่าว่า “พื้นที่ปฏิบัติงานของผมครอบคลุมทั้งจังหวัดร้อยเอ็ดและกาฬสินธุ์ โดยที่ผ่านมามักพบเจอกับผู้ประสบเหตุทางน้ำจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กจมน้ำในช่วงปิดเทอม รวมทั้งในสถานที่เกิดเหตุไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะพบอุปสรรคใด ที่ผ่านมาอาสาสมัครมักบาดเจ็บจากสิ่งที่อยู่ใต้น้ำ ทั้งกิ่งไม้ อวนดักปลา และกระแสน้ำที่เชี่ยวกราก การที่ได้เข้าอบรมหลักสูตรทางน้ำในครั้งนี้ มีประโยชน์ต่ออาสากู้ภัยอย่างผมมาก เพราะทำให้ได้เรียนรู้ทักษะต่างๆ ที่สามารถนำไปช่วยเหลือชีวิตคนในการปฏิบัติภารกิจได้โดยตรง เพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตของผู้ประสบเหตุ และลดความเสี่ยงของการบาดเจ็บอีกด้วย
ทั้งนี้ สิงห์อาสา ยังมีโครงการอื่นๆ ที่จัดขึ้นเพื่อเพิ่มทักษะให้แก่อาสาสมัครกู้ภัยและกู้ชีพ ได้แก่ โครงการอบรม “กู้ภัยและเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไฟไหม้” ร่วมกับ สาขาวิชาศัลยศาสตร์อุบัติเหตุ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เพื่อพัฒนาทักษะการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุไฟไหม้ตั้งแต่เบื้องต้นจนถึงการเคลื่อนย้าย-นำส่งจนถึงมือแพทย์อย่างถูกวิธี, “หลักสูตรกู้ชีพอุบัติภัย” ร่วมกับศูนย์กู้ชีพนเรนทร โรงพยาบาลราชวิถี เพื่อเพิ่มทักษะองค์ความรู้ในการดูแลรักษาชีวิตผู้ประสบเหตุได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มอัตราการรอดชีวิตและลดผลกระทบด้านสุขภาพระยะยาว และ “หลักสูตรอสรพิษวิทยา” ร่วมกับเพจ Nick wildlife ผู้เชี่ยวชาญด้านงู เพื่อพัฒนาศักยภาพ เสริมสร้างทักษะความรู้ และความปลอดภัยในการจับงูให้กับกลุ่มอาสากู้ภัยในการปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูฝนและในสถานการณ์น้ำท่วมที่มักพบเจองูตามบ้านเรือนจำนวนมาก