รู้เก็บรู้ออม : ลงทุนยุค New Normal!!

เผลอแป๊บๆ คนไทยอยู่กับเจ้าเชื้อร้าย โควิด-19 มาเกือบจะ 2 ปีแล้ว เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมากมาย และต่อจากนี้ไป ชีวิตของเราทุกคนจะไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป อะไรที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว มีผลดีเกิดขึ้น ก็จะกลายเป็นมาตรฐานการใช้ชีวิตแบบใหม่ที่คนจะคุ้นชิน และถือปฏิบัติกันต่อไป ซึ่งหมายรวมถึงพฤติกรรมต่างๆของผู้บริโภคด้วย

บทความเรื่อง “เลือกลงทุนแบบไหน เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคหลัง COVID–19 ไม่เหมือนเดิม” โดยคุณฐิติเมธ โภคชัย ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พูดถึงประเด็นนี้อย่างน่าสนใจทีเดียวถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ว่าจะส่งผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุนที่ต้องเปลี่ยนแปลงไปตาม

มีผลสำรวจว่า พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน และเข้าสู่ชีวิตวิถีใหม่แบบเต็มสูบ ไม่ว่าจะเป็น การให้ความสำคัญกับมูลค่าและความจำเป็นมากขึ้น ใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้น, ให้ความสำคัญกับการซื้อของออนไลน์ เกิดความคุ้นเคยกับบริการส่งสินค้าถึงบ้าน รวมทั้งรู้สึกไว้วางใจในระบบดิจิทัล ที่ทำให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสเพื่อลดภาวะการติดเชื้อ, ให้ความสำคัญกับแบรนด์สินค้าน้อยลง ให้ความสำคัญเรื่องมูลค่า ความสะดวกสบายในการเข้าถึงสินค้า และคุณภาพ และ การให้ความสำคัญกับสุขภาพและมาตรฐานสุขอนามัย

สิ่งต่างๆเหล่านี้ จะเป็นปัจจัยที่นักลงทุนต้องนำมาพิจารณาว่า ถ้าอยากให้พอร์ตลงทุนของตัวเองเติบโต สร้างผลตอบแทนสูงขึ้น ก็ต้องมองหาสินทรัพย์ลงทุนให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยบทความนี้ ได้ชี้เป้าว่า ต่อจากนี้ไป สินทรัพย์ลงทุนที่มองข้ามไม่ได้เลย จะเป็น 3 กลุ่มนี้

1.กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยี ได้รับประโยชน์จากสถานการณ์โควิด-19 อย่างชัดเจน เราได้เห็นหลายๆบริษัทหันมาใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้หุ่นยนต์ในการผลิต การจัดเก็บและบริหารข้อมูลบนคลาวด์ การใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ออกแบบและบริหารระบบ Supply Chain และการใช้เทคโนโลยี 5G ด้านการใช้ชีวิตในโลกออนไลน์ก็มีมากขึ้นเช่นกัน

2. กลุ่มนวัตกรรมการแพทย์และไบโอเทคโนโลยี การคิดค้นนวัตกรรมและผลิตวัคซีน และยารักษาโรคร้าย ทั้งโควิด-19 ในปัจจุบัน หรือมะเร็งในอนาคต ทำให้ธุรกิจกลุ่มนี้ก็มีโอกาสเติบโตอีกมาก เห็นได้จากยอดขายยาที่ผลิตจากนวัตกรรมไบโอเทคโนโลยี แย่งส่วนแบ่งการตลาดยาโลกเพิ่มขึ้น คาดว่าในปี 2565 ยาจากนวัตกรรมไบโอเทคโนโลยีจะมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 32% เพิ่มขึ้น 90% จากปี 2555 ที่มีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 20% และธุรกิจดิจิทัลเฮลธ์แคร์ ก็มีแนวโน้มที่ขยายตัวได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน อย่างเช่นการนัดแพทย์และวินิจฉัยโรคหรืออาการเจ็บป่วยทางออนไลน์ ก็มีการใช้บริการเพิ่มมากขึ้น

และ 3.กลุ่มธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ประเมินว่า ตลอด 5 ปีต่อจากนี้ ตลาดค้าปลีกออนไลน์ในไทยหลัง COVID-19 จะขยายตัวเฉลี่ย 20% ต่อปี เพิ่มขึ้นจากระดับ 3 แสนล้านบาทในปัจจุบัน เป็น 7.5 แสนล้านบาทในปี 2568 โดยเฉพาะในปี 2563 ธุรกิจนี้ของไทยขยายตัวอย่างก้าวกระโดดถึง 80% สะท้อนการเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อสินค้าของผู้บริโภคไปสู่ช่องทางออนไลน์เพิ่มมาก

เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ก็ลองไปพิจารณาดูว่า หุ้นตัวที่เราสนใจ หรือมีอยู่ในพอร์ต ทำธุรกิจอยู่ในกลุ่มดังกล่าวนี้หรือเปล่า หากใช่ก็ถือว่ามีอนาคตสดใสทีเดียว หากพอร์ตเรายังไม่มีหุ้นพวกนี้อยู่ก็น่าจะเป็นตัวเลือกต่อไป ในการเติมหรือปรับหุ้นในพอร์ต แต่ทั้งนี้ ก็ต้องพิจารณาประกอบกับการศึกษาข้อมูลก่อนการลงทุนให้ดีด้วย

สนใจหาความรู้เรื่องการลงทุน สามารถไปค้นคว้าหาข้อมูลได้เลยที่ setinvestnow แหล่งความรู้ด้านการลงทุนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย.

คุณนายพารวย

ที่มา คอลัมน์ รู้เก็บรู้ออมรู้ใช้รู้ลงทุน..สู่ความมั่งคั่ง หน้าเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ