ฟังข้อมูลอีกด้าน ไทยส่งออกปลาหมอคางดำกว่า 3 แสนตัว จี้รัฐเปิดชื่อผู้ส่งออก

บทความโดย โดย อุทก สาครกุล

กระแสปลาหมอคางดำในขณะนี้ ส่วนหนึ่งก็เป็นการกระตุ้นและเชิญชวนชาวบ้านในพื้นที่ที่พบปลาชนิดนี้ให้ได้ช่วยกันจับขึ้นมาใช้ประโยชน์ ได้เห็นความร่วมมือร่วมใจของหลายฝ่ายในการตามล่าปลาชนิดนี้แล้วก็เชื่อว่าอีกไม่นานประเทศไทยต้องสามารถควบคุมประชากรปลาหมอคางดำได้แน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ เข้ามาทำให้ปลาเป็นหมัน ซึ่งน่าจะเห็นผลเป็นรูปธรรมในอีกไม่กี่ปี เมื่อประกอบกับมาตรการหลากหลายข้อที่กรมประมงและทุกภาคส่วนร่วมกันดำเนินการ ก็น่าจะบรรลุเป้าประสงค์ได้เร็วยิ่งขึ้น

ปัญหาการระบาดของปลาหมอคางดำ มีการเปิดเผยถึงผู้ขออนุญาตนำเข้าปลาชนิดนี้อย่างถูกต้องเพียงรายเดียว จนทำให้หลายฝ่ายมองว่าอาจเป็นสาเหตุของการระบาดดังกล่าว ทั้งๆที่ข้อเท็จจริง คือการนำเข้าสัตว์ต่างถิ่นมายังราชอาณาจักรนั้น เป็นไปได้ 2 วิธี นั่นคือ 1.) ขออนุญาตนำเข้า และ 2.) การลักลอบนำเข้า

ขณะที่เอกชนผู้ขออนุญาตถูกต้อง ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงตามหนังสือที่ยื่นต่อคณกรรมาธิการฯ ถึงวิธีการนำเข้าและการทำลายทั้งหมดไปเรียบร้อยแล้ว น่าเสียดายที่ไม่มีใครพูดถึงข้อมูลอีกด้านที่เกี่ยวข้องกับปลาหมอคางดำ

ในเว็บไซด์ของกรมประมง มีข้อมูลของ กองควบคุมการค้าสัตว์น้ำและปัจจัยการผลิต กล่าวถึง การส่งออกปลาหมอสีคางดำเป็นปลาสวยงามไปต่างประเทศถึง 15 ประเทศ ในช่วงปี 2556-2559 รวมจำนวน 323,820 ตัว คิดเป็นมูลค่า 1,510,050 บาท โดยประเทศปลายทางที่สั่งซื้อปลาหมอสีคางดำจากไทย ได้แก่ อาเซอร์ไบจาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อิสราเอล อิหร่าน เลบานอน ตุรกี อียิปต์ ซิมบับเว รัสเซีย โปแลนด์ ออสเตรเลีย แคนาดา ปากีสถาน ญี่ปุ่น และมาเลเซีย
(https://www4.fisheries.go.th/local/pic_activities/201802221729471_pic.pdf)

ข้อมูลนี้สะท้อนว่าประเทศไทยมีการนำเข้าพ่อ-แม่พันธุ์ปลาหมอสีคางดำ เข้ามาเพาะเลี้ยงในกลุ่มปลาสวยงาม และสร้างรายได้ด้วยการส่งออกเรื่อยมา ก่อนที่ กรมประมงจะมีประกาศห้ามนำเข้า ส่งออก หรือเพาะเลี้ยง ในปี พศ.2561 โดยบริษัทเหล่านี้ ไม่ปรากฎรายชื่อ “ผู้ขออนุญาตนำเข้า” ให้สืบค้นเลยแม้แต่รายเดียว จึงเป็นไปได้ว่าน่าจะนำเข้ามาโดย ไม่มีการขออนุญาตใดๆ ตรงนี้หากภาครัฐไม่ว่าจะเป็น กรมประมง หรือ กรมศุลกากร จะเปิดเผยชื่อผู้ส่งออกปลากว่า 3 แสนตัวนี้ ก็จะก่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

ประเทศไทยมีการนำเข้าสัตว์ต่างถิ่นกันมากมาย และส่วนใหญ่ไม่ขออนุญาตอย่างเป็นทางการ ขณะที่ช่วงปี 2549 ซึ่งมีการขออนุญาตนำเข้านั้นยังไม่เคยปรากฎรายงานในโลกนี้ว่า ปลาหมอสีคางดำเป็นปลาต่างถิ่นกลุ่มรุกราน ( Invasive alien species ) ดังนั้น การที่กรมประมงอนุญาตให้นำเข้ามาค้นคว้าวิจัยในช่วงนั้นก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิด เนื่องจากเพิ่งมารู้ภายหลังว่าเป็นสายพันธุ์รุกราน เมื่อพบการระบาดจากฟาร์มปลาสวยงามในสหรัฐ

ในส่วนของการทำลายสัตว์ต่างถิ่น เชื่อว่านักวิจัยทุกคนมีความรู้ความเข้าใจและระมัดระวังเรื่องเชื้อโรคที่อาจติดมากับสัตว์ต่างถิ่นเสมอ เมื่อพบสัตว์ป่วย ไม่แข็งแรงและทยอยตายลง วิถีในการทำลายสัตว์เหล่านี้อย่างถูกต้องตามหลักวิชา ก็เป็นพื้นฐานความรู้ที่นักวิจัยทุกคนถือปฏิบัติ นับเป็นข้อดีที่กรมประมงกำหนดเป็นเงื่อนไขแก่ผู้ได้รับอนุญาต ส่วนผู้ที่ไม่ได้ขออนุญาต ย่อมไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดใดๆ ของรัฐ

การติดตามข้อมูลผู้ส่งออกปลา จึงอาจทำให้ค้นพบข้อเท็จจริงบางอย่าง และก่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย รวมถึงจะช่วยหยุดการโฟกัสผิดจุด แล้วมุ่งเดินหน้าแก้ปัญหาให้ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมกลับมาดังเดิมโดยเร็วที่สุด ซึ่งดีกว่าการพยายามหาคนผิดที่คาดว่าอาจไม่มีทางหาเจอ