ปิ๊งไอเดีย “สลากเกษียณ” แบบดิจิทัล จูงใจคนไทยออมเพือเกษียณ รางวัลที่หนึ่ง 1 ล.บาท

กระทรวงคลัง เตรียมเปิดตัว “สลากเกษียณ” ในรูปแบบสลากขูดดิจิทัล ขายผ่านกอช. ราคาใบละ50 บาท หวังจูงใจให้คนออมเงินเพื่อเกษียณ โดยเงินที่ซื้อสลากจะถูกออมในกอช. และไถ่ถอนได้เมื่ออายุครบ 60 ปี ออกรางวัลทุกวันศุกร์ รางวัลที่ 1 จำนวน 1 ล้านบาท 5 รางวัล คาดเริ่มปีหน้า 2568

เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2567 ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ปัจจุบันไทยมีปัญหาประชาชนเข้าสู่วัยเกษียณ แต่ไม่มีเงินเก็บ ปัญหานี้จะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็วของไทย และปัญหานี้แก้ไม่ได้ด้วยการอัดงบประมาณในรูปแบบเบี้ยคนชราจำนวนสูงๆ ซึ่งไม่มีทางรับไหว

ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

ดังนั้น กระทรวงการคลังกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา “นโยบายสลากสะสมทรัพย์เพื่อเงินออมยามเกษียณ” หรือ “สลากเกษียณ” ซึ่งเป็นนวัตกรรมเชิงนโยบายที่รวมเอาลักษณะการชอบเสี่ยงดวงของคนไทยมาเป็นแรงจูงใจในการเก็บออมที่สามารถถอนเงินที่ซื้อสลากทั้งหมดออกมาได้ตอนเกษียณ (อายุ 60 ปี) โดยมีรายละเอียดเบื้องต้น คือ

  1. กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ออกสลากขูดแบบดิจิทัล ใบละ 50 บาท ขายให้กับสมาชิก กอช. ผู้ประกันตน ม. 40 และแรงงานนอกระบบ (กลุ่มเป้าหมายจะเพิ่มเติมภายหลัง) ซื้อได้ไม่เกิน 3,000 บาท ต่อเดือน
  2. สามารถซื้อสลากได้ทุกวัน โดยออกรางวัลทุกวันศุกร์เวลา 17.00 น. ผู้ถูกรางวัลจะได้เงินรางวัลทันที โดยที่เงินค่าซื้อสลากถูกเก็บเป็นเงินออม แม้ว่าจะถูกรางวัลหรือไม่ก็ตาม
  3. รางวัลสลากเกษียน เบืื้องต้นกำหนดดังนี้
    • รางวัลที่ 1 จำนวน 1,000,000 บาท จำนวน 5 รางวัล
    • รางวัลที่ 2 จำนวน 1,000 บาท จำนวน 10,000 รางวัล
  4. เงินค่าซื้อสลากทั้งหมดจะเป็นเงินออมของผู้ซื้อสลาก (เงินสะสม) ซึ่งจะนำเงินส่งเข้าบัญชีเงินออมรายบุคคลกับ กอช. โดย กอช. จะเป็นผู้บริหารจัดการ และเมื่อผู้ซื้อสลากอายุครบ 60 ปี จะสามารถถอนเงินทั้งหมดที่ซื้อสลากออกมาได้

ทั้งนี้ นโยบายนี้เพื่อแก้ไขปัญหาคนไทยแก่แต่จน แก่แต่ไม่มีเงินเก็บ เพราะการออมภาคสมัครใจในปัจจุบันไม่ได้ผล ต้องอาศัยการออมที่ผูกกับแรงจูงใจซื้อสลาก ถูกกฎหมาย เงินไม่หาย กลายเป็นเงินออมยามเกษียณ ถูกรางวัลได้เงินเลย ไม่ถูกทุกบาททุกสตางค์จะถูกเก็บเป็นเงินออมยามเกษียณ สำหรับนโยบายนี้อยู่ระหว่างแก้ไขปรับปรุงกฒกหมาย และรับฟังความคิดเห็น ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา 6 เดือน-1 ปี