ปลาหมอคางดำ หยุดจับก็เจ๊ง กรมประมงต้องขับเคลื่อนต่อเนื่อง

บทความโดย สินี ศรพระราม
นักวิชาการอิสระ

หลังเปิดปฏิบัติการไล่ล่าปลาหมอคางดำที่จังหวัดนครศรีธรรมราชเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา นับเป็นการจุดกระแส “จับปลาหมอคางดำ” ขยายวงกว้างไปยังจังหวัดอื่นๆ ที่มีการแพร่ระบาด ทั้งสงขลา เพชรบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร เป็นต้น ส่วนสมุทรสาครและสมุทรสงคราม มีการจับปลาอย่างต่อเนื่องก่อนหน้า โดยกรมประมงรายงานตัวเลขการจับปลาหมอคางดำล่าสุดใน 18 จังหวัด ได้มากกว่า 3 ล้านกิโลกรัม และส่งต่อไปยังโรงงานปลาป่น และการทำน้ำหมักชีวภาพ
 
สำหรับการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณ 450 ล้านบาท รับซื้อปลาในราคากิโลกรัมละ 15 บาท (ส่งต่อไปทำปลาป่นและน้ำหมักชีวภาพ) ซื้อพันธุ์ปลาผู้ล่า และการนำปลาไปใช้ประโยชน์ รวมถึงการวิจัยนวัตกรรมและฟื้นฟูธรรมชาติ ซึ่งล่าสุดอนุมัติเพิ่มอีก 4.9 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการแปรรูปเป็นปลาร้า โดยมีเป้าหมายกำจัดปลาหมอคางดำ 200,000 กิโลกรัม
 
จากการจับปลาต่อเนื่อง 3 เดือน (กรกฎาคม-กันยายน) ประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรีและกรุงเทพฯ ให้ข้อมูลไปในทิศทางเดียวกันว่าปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติของแต่ละจังหวัดลดลง และสามารถเดินหน้าปฏิบัติการขั้นตอนการปล่อยปลาผู้ล่า คือ ปลากะพง (ปล่อยไปแล้ว 100,000 ตัว ที่ได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน) ลงไปกำจัดลูกปลาหมอคางดำที่ยังหลงเหลือในแหล่งน้ำ พุ่งเป้าควบคุมการแพร่ระบาดให้อยู่ในวงจำกัด นับว่าแผนปฏิบัติการตามแนวทางของกรมประมงกำลังเดินหน้าด้วยดีตามลำดับ
 
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ผู้เลี้ยงสัตว์น้ำ ชาวบ้านและชาวประมงในจังหวัดที่มีการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ มีความเป็นห่วงการจับปลาหมอคางดำของภาครัฐขณะนี้ที่หยุดชะงัก เนื่องจากงบประมาณที่จัดสรรไว้สำหรับรับซื้อปลาหมด ซึ่งจะส่งผลให้ปลาในแหล่งน้ำกลับมาแพร่พันธุ์เพิ่มขึ้นได้อีก เพราะตามหลักวิชาการไม่ควรหยุดจับปลาและต้องจับให้ปลาเหลือน้อยที่สุด ซึ่งกรมประมงควรวางแผนตั้งงบประมาณไว้ต่อเนื่องเพื่อขับเคลื่อนแผนปฎิบัติการให้ประสบความสำเร็จทุกขั้นตอน มิฉะนั้นจะทำให้การแก้ปัญหาไม่ประสบความสำเร็จและจะกลับไปซ้ำรอยเดิม
 
กระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์ ประกาศแนวทางแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำประกอบด้วย 1.เร่งการจับปลาหมอคางดำ คาดว่าจะลดปริมาณปลาหมอคางดำได้ประมาณ 4 ล้านกิโลกรัม 2. ปล่อยปลาผู้ล่า เช่น ปลากะพง ลงในแหล่งน้ำที่พบการระบาดซึ่งชนิดของปลาจะแตกต่างกันไปตามพื้นที่ 3. ใช้ประโยชน์จากปลาหมอคางดำที่จับได้ไม่ให้สูญเปล่า เช่น นำไปทำเป็นปุ๋ยหมัก น้ำปุ๋ยชีวภาพ ปลาร้า หรือปลาป่น 4. ป้องกันการแพร่กระจายข้ามแหล่งน้ำ 5.ให้ความรู้กับประชาชน ในการสังเกตระวังป้องกัน และ 6.แผนระยะกลางและระยะยาวใช้เทคโนโลยีด้านการเหนี่ยวนำโครโมโซมปลาหมอคางดำ ทำให้ปลาเป็นหมัน
 
ด้านเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งในเขตบางขุนเทียน ยอมรับว่าปลาหมอคางดำลดลงไปประมาณ 30% จึงขอให้รัฐบาลเดินหน้าโครงการจับและรับซื้อปลาหมอคางดำในราคากิโลกรัม 15 บาท อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรเร่งจับออกจากบ่อเลี้ยงและชาวบ้านช่วยลงแขกจับปลาออกจากแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อกำจัดปลาหมอคางดำที่แพร่ระบาดให้ได้มากที่สุดและปล่อยปลาผู้ล่าตามขั้นตอน ที่สำคัญต้องให้ความรู้กับเกษตรกรด้านการบริหารจัดการบ่อเพื่อป้องกันไม่ให้ปลาเล็ดลอดเข้าไปในบ่อเลี้ยงได้อีก ขณะที่ชุมชนต้องเรียนรู้การกำจัดปลาอย่างถูกวิธีและไม่เคลื่อนย้ายปลามีชีวิตออกนอกพื้นที่ หากมีความจำเป็นต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของกระทรวงฯ อย่างเคร่งครัด

“เกษตรกรต้องการมีรายได้หลักจากกุ้งที่เลี้ยงในบ่อเพราะราคาดีกว่าปลาหมอคางดำมาก แต่ถ้าไม่ขายปลาในโครงการของรัฐบาล ปลานี้แทบไม่มีราคา ขายเป็นปลาเหยื่อได้เพียงกิโลกรัมละ 5-7 บาท ไม่คุ้มกับค่าอาหารและค่าใช้จ่าย ที่สำคัญรายได้จากการจับกุ้งแต่ละครั้งหลักแสนบาท ตอนนี้รายได้ลดลงมากกว่า 50% เพราะกุ้งถูกปลาหมอคางดำกินเกือบหมด” เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งในเขตบางขุนเทียน กล่าว
 
ก่อนหน้านี้สื่อออนไลน์ยังได้เผยแพร่ข่าวชาวประมงที่จังหวัดสมุทรสาครออกล่าปลาหมอคางดำและได้ปลากะพงติดแห 2 ตัว ขนาดความยาว 8-9 นิ้ว เมื่อจับผ่าท้องดูพบลูกปลาหมอคางดำในท้อง 3 ตัว แสดงให้เห็นว่าปลากะพงเป็นปลานักล่าที่มีศักยภาพสูงในกำจัดปลาหมอคางดำ ซึ่งรัฐบาลควรเดินหน้าตามขั้นตอนที่กำหนดไว้อย่างต่อเนื่อง
 
ล่าสุด นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง ยืนยันว่าปริมาณปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติเบาบางลง แต่ยังกลัวว่ามีเกษตรกรที่ยังเลี้ยงปลาหมอคางดำไว้ในบ่อเลี้ยงจะทำให้การแพร่ระบาดเพิ่มขึ้น
 
เห็นได้ว่ารัฐบาลควรหาวิธีการและจัดสรรงบประมาณอย่างเหมาะสมในการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ โดยเฉพาะการเร่งจับปลาออกจากแหล่งน้ำให้ได้มากที่สุดและเร็วที่สุด นับเป็นวิธีการที่เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมจึงควรทำต่อเนื่องไม่หยุด และดำเนินการตามแผนให้ครบวงจร เพื่อควบคุมปลาให้อยู่ในวงจำกัด หากเกิดการหยุดชะงักก็จะทำให้การแก้ปัญหาต้องกลับไปนับหนึ่งใหม่ตลอดเวลา และไม่มีหนทางที่จะจบปัญหานี้ได้ทั้งในวันนี้หรือในอนาคต.