ช่วงนี้ ราคาน้ำมันบ้านเราขยับขึ้น ซึ่งก็เป็นผลมาจากราคาน้ำมันตลาดโลกที่ปรับตัวขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง และเนื่องจากราคาน้ำมันในประเทศไทย อิงกับราคาน้ำมันตลาดโลก …อ้าวทำไมเราต้องไปอ้างอิงกับเค้าล่ะ!!
ก็เพราะว่า เราต้องซื้อหรือนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศ มาใช้ในประเทศมากกว่า 80% เพราะประเทศไทยผลิตน้ำมันดิบได้เพียงวันละ 126,000 บาร์เรล หรือราว 20 ล้านลิตร แต่เรามีความต้องการใช้มากถึง 994,000 บาร์เรล หรือ 158 ล้านลิตรต่อวัน ตัวเลขนี่เป็นข้อมูลคร่าวๆ ที่ได้มาจากกระทรวงพลังงาน นั่นแสดงว่าเราจำเป็น ต้องนำเข้าน้ำมันดิบถึง 878,000 บาร์เรลหรือ เกือบ 140 ล้านลิตร/วัน เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศนั่นเอง!!
นั่นเป็นสาเหตุที่เราต้องอิงราคาน้ำมันในตลาดโลก ดังนั้น เมื่อราคาน้ำมันโลกปรับเพิ่มขึ้น ราคาน้ำมันในไทยก็ต้องปรับตาม ซึ่งเป็นไปตามกลไกตลาดปกติ โดยขณะนี้ หลายประเทศทั่วโลกเริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิดเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นและใกล้ช่วงหน้าหนาว จึงทำให้มีความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น ราคาน้ำมันโลกจึงปรับขึ้น หลังจากที่ก่อนหน้านี้เราใช้น้ำมันในราคาถูกมาแล้ว จากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลง!!
เมื่อมีภาระที่ต้องจ่ายค่าน้ำมันแพงขึ้น ย่อมต้องมีเสียงบ่นตามมา….!!
มีคำถามว่า การกำหนดราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไทยมีที่มาอย่างไร วันนี้ “บิ๊กเกรียน” จะมาเล่าให้ฟัง ว่าที่มาที่ไปของราคาขายน้ำมันในไทย มาจากอะไรบ้าง ???
ง่ายๆเลย แบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก ส่วนที่ 1. คือ ต้นทุนค่าเนื้อน้ำมันที่ซื้อจากโรงกลั่น(ส่วนนี้แหละที่ต้องอิงกับราคาตลาดโลกบวกค่าการกลั่น ที่ปัจจุบันไทยใช้ราคาอ้างอิงจากราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดสิงคโปร์)
ส่วนที่ 2. เป็นภาษีที่ภาครัฐจัดเก็บ ที่ไม่ว่าจะผู้ค้ารายไหน ปั๊มน้ำมันยี่ห้ออะไร เสียเหมือนกันหมด (มีทั้งภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่ม ในต่างจังหวัดก็จะมีภาษีเทศบาลหรือภาษีท้องถิ่นเพิ่มมาอีกนิดหน่อย ขึ้นอยู่กับแต่ละท้องถิ่นกำหนด ) และเงินสมทบเข้ากองทุนต่าง ๆ เพื่อให้ในการบริหารจัดการดูแลราคาน้ำมันและพลังงานอื่นๆ ในประเทศ ได้แก่ กองทุนน้ำมัน และกองทุนเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน
ส่วนที่ 3. คือ ค่าการตลาด ที่บริษัทขายปลีกน้ำมันหรือสถานีบริการน้ำมันต่างๆ จะได้รับ(รวมต้นทุนค่าใช้จ่ายกำไรทั้งหมดอยู่ในนี้) จากข้อมูลล่าสุด ค่าการตลาดได้รับกันอยู่ที่ลิตรละไม่ถึง 1 บาท ซึ่งถือว่าต่ำกว่าที่ช่วงที่ผ่านมามากๆ ทำให้สถานีบริการหรือปั๊มน้ำมันต่างพากันดิ้นรนหารายได้อื่นมาเสริมภายในปั๊ม ทั้งร้านกาแฟ ร้านสะดวกซื้อ เพราะหวังพึ่งพารายได้จากส่วนแบ่งค่าการตลาดเพียงอย่างเดียว กับต้นทุนที่ลงทุนสร้างปั๊มและจ้างพนักงานมาบริการแล้วอาจไปไม่รอด!!
สรุปว่า ราคาที่ขายปลายทางหน้าปั๊มน้ำมัน ที่ตอนนี้น้ำมันดีเซลอยู่ที่ลิตรละ เกือบๆ 29 บาท นั้น เป็นราคาที่คำนวณมาจาก ส่วนที่ 1.คือราคาเนื้อน้ำมันเฉลี่ยที่ 62 % ที่เหลือเป็นค่าภาษีและกองทุนและค่าการตลาด
ดังนั้นจากกรณีที่มีการแชร์คลิปสัมภาษณ์คนขับรถบรรทุกน้ำมันในพม่า ว่า ขับรถมาซื้อน้ำมันดีเซลจาก ปตท. ฝั่งไทย ได้ในราคาถูกเพียงลิตรละ 21 บาท ซึ่งเทียบกับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลที่สถานีบริการน้ำมัน ปตท. รวมทั้งปั๊มน้ำมันยี่ห้ออื่นๆในไทย ที่ขายกันลิตรละ 29บาทแล้วถูกกว่ากันมาก!!
เรื่องนี้ สามารถอธิบายได้ว่า 21 บาทนั้นคือ ราคาส่งออกที่อ้างอิงตามราคาน้ำมันสำเร็จรูปสิงคโปร์ หรือราคาซื้อขายเนื้อน้ำมัน ที่ไม่ได้รวมค่าภาษี+กองทุน+ค่าการตลาด เพราะสินค้าที่ส่งออกไปต่างประเทศ จะไม่มีการรวมภาษีและกองทุนฯ ใดๆ ที่ภาครัฐเรียกเก็บมาใช้จ่ายภายในประเทศ ซึ่งเป็นหลักการเดียวกันกับการส่งออกสินค้าอื่นๆ ทั่วไป และไม่ได้เป็นการซื้อขายที่หน้าปั๊มหรือสถานีบริการน้ำมัน แต่น่าจะเป็นการซื้อขายที่หน้าโรงกลั่นหรือคลังน้ำมัน
ส่วนต้นทุนน้ำมันของพม่าที่ 21 บาทนี้ เมื่อนำกลับไปขายที่พม่าก็ต้องมีต้นทุนค่าขนส่ง และภาษีตามแต่นโยบายของแต่ละประเทศจะกำหนดแตกต่างกันออกไป รวมทั้งนโยบายในการสนับสนุนราคาของแต่ละประเทศ ที่จะส่งผลต่อราคาขายปลีกน้ำมันของประเทศนั้นๆ
สรุปได้ว่า ประเทศที่ต้องนำเข้าน้ำมัน ส่วนใหญ่มีต้นทุนเนื้อน้ำมันไม่ต่างกันมากนัก เพราะราคาที่ใช้ในการซื้อ-ขาย อ้างอิงจากราคาตลาดโลก จะต่างกันที่ภาษีและนโยบายในเรื่องราคาน้ำมันของรัฐบาล!!
สำหรับบ้านเราตอนนี้ ที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นมากๆ จนส่งผลให้ราคาขายปลีกในประเทศต้องขยับสูงขึ้นตาม แต่รัฐบาลไทยได้กำหนดให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลสูงสุด ไม่เกินลิตรละ 30 บาท โดยใช้เงินจากกองทุนน้ำมัน (ที่เก็บสะสมเข้ากองทุนไว้ในช่วงราคาน้ำมันต่ำ) มาอุดหนุนราคาน้ำมัน ไม่ให้ประชาชนต้องจ่ายเกินลิตรละ30 บาท!!
สุดท้าย อาจมีข้อสงสัยว่า ในเมื่อประเทศไทย ผลิตน้ำมันได้เพียงน้อยนิด..แถมยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เป็นส่วนใหญ่ ทำไมยังส่งออกได้…?? หลักๆ นั่นก็เป็นเพราะน้ำมันดิบที่ขุดได้ในประเทศไทย มีคุณภาพไม่เหมาะสมกับโรงกลั่นภายในประเทศ คือ มีกำมะถัน สารปรอท โลหะหนัก ฯลฯ ปนอยู่สูง การส่งออกไปยังประเทศที่มีโรงกลั่นที่เหมาะสมกับน้ำมันดิบชนิดนี้จึงเหมาะสมกว่า และอีกส่วนหนึ่งก็คือเนื่องจากในการกลั่นน้ำมันนั้น บางครั้งจะมีผลิตภัณฑ์บางอย่างที่เป็นส่วนเกินจากความต้องการใช้ในประเทศ เช่น น้ำมันเบนซิน หรืออาจจมีการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่ไม่มีโรงกลั่นเป็นของตัวเอง ซึ่งก็ไม่ได้มีปริมาณมากมายเมื่อเทียบกับปริมาณน้ำมันที่เราใช้กันอยู่ในประเทศครับทีนี้ ถ้ามีใครมาพูดเรื่องราคาน้ำมันถูก-แพง เพราะอะไร มาจากไหน ยังไง พี่ๆน้องๆชาว “บิ๊กเกรียน” ก็จะได้เข้าใจและสามารถอธิบายข้อเท็จจริง ไม่ให้ใครมาทำให้เราสับสนได้อีกแล้วนะคร้าบบบบบ!!!