นายจ้างเฮ ยกเว้นภาษีให้ผู้ประกอบการ รับผู้พ้นโทษเข้าทำงาน

รายงานข่าวจากกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า นายจ้างที่รับผู้พ้นโทษเข้าทำงาน จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ร้อยละ 50 ของรายจ่ายที่เป็นค่าแรง เฉพาะรอบภาษี 1 ม.ค. ถึง 31 ธ.ค.63 นี้เท่านั้น

โดยกรมราชทัณฑ์ขอแจ้ง พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 704) พ.ศ. 2563 (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจ้างงานผู้พ้นโทษเข้าทำงาน) ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 63 โดยการยกเว้นภาษีดังกล่าว เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจและสนับสนุนให้นายจ้างที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล เกิดการจ้างงานผู้พ้นโทษเข้าทำงาน โดยสามารถนำรายจ่ายที่เป็นค่าจ้างแรงงานผู้พ้นโทษ มายกเว้นภาษีเงินได้ เป็นจำนวนร้อยละ 50 ของรายจ่าย

โดยสาระสำคัญของพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่รับผู้พ้นโทษ ซึ่งได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำเป็นระยะเวลาไม่เกินสามปีนับแต่วันที่ได้รับการปล่อยตัวเข้าทำงาน สำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละ ห้าสิบของรายจ่าย ที่ได้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงานผู้พ้นโทษเฉพาะในส่วนที่ไม่เกินหนึ่งหมื่นห้าพันบาท ต่อคนต่อเดือน ซึ่งการยกเว้นภาษีในครั้งนี้เฉพาะรอบระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 31 ธ.ค. 63 นี้เท่านั้น 

โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ตามมาตรา 4 ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 59 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร กรณีการจ่ายเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40(1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตภายในกำหนดเวลาตามกฎหมาย ตั้งแต่เดือนที่รับผู้พ้นโทษเข้าทำงานจนถึงเดือนสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้

สำหรับนายจ้างที่จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีตามพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ จะต้องเป็นบริษัทหรือนิติบุคคลเท่านั้น และต้องมีการจ้างงานผู้พ้นโทษเข้าทำงาน โดยผู้พ้นโทษจะต้องเป็นนักโทษเด็ดขาดที่พ้นโทษครบกำหนดตามหมายศาล หรือเป็นนักโทษที่มีหนังสือสำคัญพักการลงโทษกรณีปกติ หนังสือสำคัญพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ หรือหนังสือสำคัญการปล่อยตัวลดวันต้องโทษจำคุก ซึ่งจะต้องเป็นผู้พ้นโทษที่ได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำเป็นระยะเวลาไม่เกิน 3 ปีเท่านั้น เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเกิดการจ้างงานผู้พ้นโทษ อันจะก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้แก่ผู้พ้นโทษ ซึ่งจะช่วยลดการกระทำผิดซ้ำ สอดคล้องกับภารกิจกรมราชทัณฑ์ ที่นอกจากการควบคุมผู้ต้องขังแล้ว ยังมีหน้าที่ในการแก้ไขและพัฒนาพฤตินิสัยของผู้ต้องขัง ให้เป็นผู้ที่มีทักษะ มีความสามารถ เพื่อให้ผู้พ้นโทษได้มีงานมีรายได้ สามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ภายหลังพ้นโทษ ไม่หันมาก่อความผิดซ้ำ 

โดยมีการติดตามผลการมีงานทำของผู้พ้นโทษ ผ่านระบบศูนย์ประสานงานและส่งเสริมการมีงานทำ (ศูนย์ CARE) ของเรือนจำทัณฑสถานทั่วประเทศ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่กรมราชทัณฑ์ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากในการคืนคนดีสู่สังคม