สำนักงานประมงจังหวัดเพชรบุรี ร่วมมือกับเรือนจำกลางเพชรบุรี และบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ดำเนินโครงการแปรรูปผลิตภัณฑ์น้ำปลาจากปลาหมอคางดำตรา “หับเผย เขากลิ้ง” โดยบูรณาการกับกิจกรรม “ลงแขกลงคลอง” จับปลาหมอคางดำในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีและนำมาหมักเป็นน้ำปลาเพิ่มมูลค่าสินค้าประจำครัวเรือนคนไทย โดยเชิญปราชญ์ชาวบ้านชาวเพชรบุรีมาช่วยถ่ายทอดความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อสร้างทักษะอาชีพให้กับผู้ต้องราชทัณฑ์ของเรือนจำกลางเพชรบุรี เป็นการส่งเสริมการบริโภค และการจัดการปัญหาปลาหมอคางดำอย่างเป็นระบบ
นายชูศักดิ์ โต๊ะถม ผู้อำนวยการส่วนพัฒนาผู้ต้องขัง เป็นตัวแทนนายมิตรารุณห์ พรหมอินทร์ ผู้บัญชาการเรือนจำกลางเพชรบุรี ร่วมกับ นายประจวบ เจี้ยงยี่ ประมงจังหวัดเพชรบุรี และตัวแทนของซีพีเอฟ ดำเนินโครงการกิจกรรมบูรณาการช่วยเหลือสังคมกำจัดปลาหมอคางดำ (ในรูปแบบ CSR) “ลงแขกลงคลอง แปรรูปผลิตภัณฑ์ น้ำปลาหับเผย เขากลิ้ง” ณ เรือนจำชั่วคราวเขากลิ้ง โดยมีนายจิตรกร บัวดี เกษตรกรผู้ผลิตน้ำปลาจากปลาหมอคางดำ ตรา “ชาววัง” เป็นวิทยากรให้ความรู้ในภาคทฤษฎี และภาคปฎิบัติแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์ 20 คน เรียนรู้การนำปลาหมอคางดำ 370 กิโลกรัมมาหมักน้ำปลาทุกขั้นตอน
นายตรารุณห์ พรหมอินทร์ ผู้บัญชาการเรือนจำกลางเพชรบุรี กล่าวว่า การบูรณาการความร่วมมือของ 3 องค์กร ระหว่างเรือนจำกลางเพชรบุรี ประมงจังหวัดเพชรบุรี และซีพีเอฟ จัดโครงการกิจกรรมบูรณาการช่วยเหลือสังคมกำจัดปลาหมอคางดำ “ลงแขก ลงคลอง แปรรูปผลิตภัณฑ์น้ำปลาตรา “หับเผย เขากลิ้ง” โดยได้รับการสนับสนุนปลาหมอคางดำจากประมงจังหวัดเพชรบุรี และมีซีพีเอฟช่วยสนับสนุนอุปกรณ์และเชิญเกษตรกรที่เป็นปราชญ์พื้นบ้านมาเป็นวิทยากรให้ความรู้การผลิตน้ำปลาจากปลาหมอคางดำให้กับผู้ต้องราชทัณฑ์ได้มีทักษะติดตัวนำไปประกอบอาชีพเพื่อเลี้ยงดูตัวเองได้ในอนาคต เนื่องจาก น้ำปลาเป็นเครื่องปรุงของคนไทยที่ทุกครัวเรือนต้องมี และเรือนจำกลางเพชรบุรียังต่อยอดทำ น้ำปลา ตรา “หับเผย เขากลิ้ง” ส่งเสริมคนไทยได้บริโภคอาหารจากปลาหมอคางดำได้กว้างขวางขึ้น นำไปสู่การจัดการปลาหมอคางดำอย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยรักษาความหลากหลายในระบบนิเวศ โครงการนี้ก่อให้เกิดประโยชน์ไม่เพียงแต่ผู้ต้องราชทัณฑ์เท่านั้น หากยังเป็นประโยชน์ต่อสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกระทรวงยุติธรรม
นายจิตรกร บัวดี ปราชญ์ชาวบ้านผลิตน้ำปลาจากปลาหมอคางดำ ตรา “ชาววัง” ผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้การนำปลาหมอคางดำแปรรูปเป็นน้ำปลา กล่าวว่า ในทุกปัญหามีทางออก ปลาหมอคางดำมีประโยชน์และบริโภคได้ การแปรรูปหรือเพิ่มมูลค่าปลาหมอคางดำเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อส่งเสริมการบริโภคอย่างกว้างขวาง มีส่วนช่วยจัดการปลาหมอคางดำได้อย่างครบวงจร การถ่ายทอดองค์ความรู้ของภูมิปัญญาชาวบ้านสู่คนรุ่นใหม่ สำหรับการสอนผู้ต้องราชทัณฑ์นับเป็นครั้งที่ 2 ครั้งแรกทำกับเรือนจำกลางสมุทรสงคราม ไม่เพียงได้ผลิตภัณฑ์น้ำปลา มีส่วนช่วยลดปริมาณปลาหมอคางดำ ความรู้ที่ถ่ายทอดจะช่วยเพิ่มทักษะให้ผู้ต้องราชทัณฑ์ติดตัวนำไปประกอบอาชีพในอนาคต สร้างรายได้ให้ครัวเรือน และสามารถบรรลุเป้าหมายที่สำคัญ คือ ประชากรปลาหมอคางดำลดลง
ด้านนายประจวบ เจี้ยงยี่ ประมงจังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า สถานการณ์ปลาหมอคางดำในพื้นที่เพชรบุรีตอนนี้พบว่ามีปริมาณเบาบางลง เป็นผลจากการบูรณาการกับทุกภาคส่วนดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำอย่างจริงจัง อาทิ การทำกิจกรรม “ลงแขกลงคลอง” จับปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง การรับซื้อส่งขายให้โรงงานปลาป่นในจังหวัดสมุทรสาคร การรับซื้อเพื่อนำไปผลิตน้ำหมักชีวภาพ จนถึงปัจจุบันสามารถจับปลาหมอคางดำได้กว่า 157,000 กิโลกรัมแล้ว การสร้างแรงจูงใจนำปลาหมอคางดำมาใช้ประโยชน์ ผ่านการส่งเสริมผู้ประกอบการหรือวิสาหกิจชุมชนร่วมนำปลาหมอคางดำหมักปลาร้า ซึ่งมีชุมชนสมัครเข้าร่วมโครงการแล้ว 4 กลุ่ม และร่วมกับสถานีพัฒนาที่ดินเพชรบุรีนำปลาหมอคางดำมาผลิตเป็นน้ำหมักชีวภาพ นอกจากนี้ การปล่อยปลาผู้ล่า ที่ผ่านมาปล่อยปลากะพงขาว ได้รับการสนับสนุนจากซีพีเอฟ 10,500 ตัว ลงสู่แหล่งน้ำ 15 แห่ง และปล่อยปลาอีกงจำนวน 50,000 ตัวลงในแหล่งน้ำ 2 แห่ง
สำหรับความร่วมมือกับเรือนจำกลางเพชรบุรีครั้งนี้นับเป็นการต่อยอดภูมิปัญญาของเกษตรกรในจังหวัดเพชรบุรีให้กับเจ้าหน้าที่ และผู้ต้องราชทัณฑ์ของเรือนจำกลางเพชรบุรี โดยตั้งเป้าหมายจับปลาหมอคางดำส่งมอบให้เรือนจำกลางได้ 5,000 กิโลกรัม สำหรับหมักเป็นน้ำปลาได้ประมาณ 8,000 ขวด ประมงเพชรบุรียังดำเนินการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ การจัดกิจกรรมลงแขกลงคลอง ซึ่งเป็นกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ช่วยรณรงค์ให้พี่น้องได้เห็นความสำคัญและความต่อเนื่องของความตั้งใจจัดการปัญหาปลาหมอคางดำของทุกภาคส่วน
นอกจากนี้ ประมงจังหวัดเพชรบุรียังมีแผนที่จะจัดตั้งอาสาสมัครเฝ้าระวังปลาหมอคางดำในทุกอำเภอ รวมถึงการพัฒนากลไกที่ช่วยให้เกิดการจัดการปลาหมอคางดำมีประสิทธิภาพ ลดการพึ่งพางบประมาณของรัฐบาล ด้วยการสนับสนุนกลุ่มชาวบ้านนำปลาหมอคางดำมาแปรรูปเป็นสินค้าประจำชุมชน อาทิ ปลาแดดเดียว น้ำปลา ปลาร้า และน้ำหมักชีวภาพ นำรายได้จากการจำหน่ายสินค้าหมุนเวียนมารับซื้อปลาหมอคางดำ ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชุมชนอย่างเป็นระบบและยั่งยืน