นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยหลังจากการลงพื้นที่เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงในช่วงวันที่ 11-14 กุมภาพันธ์ 2564 นี้ ว่า จากสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงมาตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดค่าความเค็มเพิ่มขึ้นในลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างต่อเนื่อง โดยวานนี้(9ก.พ.64) ที่สถานีสูบน้ำประปาสำแล มีค่าความเค็มสูงกว่าเกณฑ์วิกฤติ 0.5 กรัมต่อลิตร รวม 12 ชม. และค่าความเค็มสูงสุดเมื่อเวลา 16.00 น. วัดได้ 1.63 กรัมต่อลิตร เนื่องจากในขณะนี้เป็นช่วงน้ำทะเลหนุนสูง ประกอบในช่วงวันที่ 13 – 14 ก.พ.64 นี้ จะมีอิทธิพลของลมใต้ทำให้เกิด storm surge ส่งผลให้ระดับน้ำในเเม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากอ่าวไทยมีระดับน้ำเพิ่มขึ้น
กรมชลประทาน จึงได้ปรับเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักฯ ตั้งเเต่วันที่ 10 ก.พ.64 เวลา 11.00 น.จากอัตรา 55 ลบ.ม.ต่อวินาที เป็น 80 ลบ.ม.ต่อวินาที จนถึงวันที่ 16 ก.พ.64 เวลา 06.00 น. หลังจากนั้นลดเหลืออัตรา 45 ลบ.ม.ต่อวินาที พร้อมเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนพระรามหก ในวันที่ 10 ก.พ.64 เวลา 14.00 น.จากอัตรา 45 ลบ.ม.ต่อวินาที เป็น 55 ลบ.ม.ต่อวินาที และตั้งเเต่วันที่ 11 ก.พ.64 เวลา 06.00 น.จะเพิ่มการระบายเป็น 70 ลบ.ม.ต่อวินาที ต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 16 ก.พ.63 เวลา 06.00 น.หลังจากนั้นจะทะยอยลดลงเหลือ 25 ลบ.ม.ต่อวินาที
ทั้งนี้ ได้กำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมค่าความเค็มที่กำหนดไว้ พร้อมขอความร่วมมือประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าทุกแห่งที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลงมาจนถึงสถานีสูบน้ำสำแล ให้งดการรับน้ำหรือสูบน้ำในระยะนี้ เพื่อให้การควบคุมค่าความเค็มเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดและมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญขอให้ทุกภาคส่วนร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัดให้มากที่สุด โดยเฉพาะชาวเมืองหลวงและปริมณฑลที่ใช้น้ำจาก กปน. เพื่อให้ปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัดเพียงพอใช้ไปจนถึงต้นฤดูฝนหน้า