ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยหลังการประชุมมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา กรมชลประทานได้ปรับแผนการระบายน้ำ และร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมาตรการควบคุมค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้ปัจจุบันสามารถควบคุมค่าความเค็มให้อยู่ในระดับที่ไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปา
อย่างไรก็ตาม ในช่วงวันที่ 18-19 ก.พ. 64 นี้ ค่าความเค็มจะขึ้นสูงอีกครั้ง กรมชลประทานได้ปรับเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักเป็น 75 ลบ.ม./วินาที ในวันที่ 16 ก.พ.64 ตั้งแต่เวลา 06.00น. เป็นต้นไป ปรับเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนพระรามหกจาก 45 ลบ.ม./วินาที เป็น 60 ลบ.ม./วินาที และตั้งแต่วันที่ 17 ก.พ. 64 สูบผันน้ำจากแม่น้ำท่าจีนผ่านคลองพระยาบรรลือ ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาที่ ปตร.สิงหนาท 2 ในอัตรา 18 ลบ.ม./วินาที เพื่อผลักดันค่าความเค็มดังกล่าว นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเตรียมรับมือสถานการณ์น้ำทะเลหนุนตลอดช่วงเดือนนี้ พร้อมประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถึงสถานการณ์น้ำให้แก่ประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่ได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง
สำหรับสถานการณ์น้ำค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบัน(15 ก.พ. 64)เมื่อเวลา 07.00 น. ที่สถานีสูบน้ำประปาสำแล วัดค่าความเค็มได้ 0.14 กรัมต่อลิตร (เกณฑ์เฝ้าระวัง 0.25 กรัมต่อลิตร มาตรฐานเพื่อการผลิตน้ำประปาไม่เกิน 0.50 กรัมต่อลิตร) ที่สถานีปากคลองจินดา แม่น้ำท่าจีน วัดค่าความเค็มได้ 0.46 กรัมต่อลิตร (เกณฑ์เฝ้าระวังสำหรับกล้วยไม้ 0.75 กรัมต่อลิตร เกณฑ์เฝ้าระวังเพื่อการเกษตรไม่เกิน 2 กรัมต่อลิตร) ที่สถานีวัดน้ำปากคลองดำเนินสะดวก แม่น้ำแม่กลอง วัดค่าความเค็มได้ 0.15 กรัมต่อลิตร (เกณฑ์เฝ้าระวังสำหรับกล้วยไม้ 0.75 กรัมต่อลิตร เกณฑ์เฝ้าระวังเพื่อการเกษตรไม่เกิน 2 กรัมต่อลิตร)
ปัจจุบัน อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 42,980 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 57 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 19,049 ล้าน ลบ.ม. จนถึงขณะนี้มีการใช้น้ำไปแล้ว 9,261ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 54 ของแผนฯ เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 10,630 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 43 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีน้ำใช้การได้ประมาณ 3 ,9 3 4 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันจัดสรรน้ำไปแล้ว 2,709 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 66 ของแผนฯ เนื่องจากปีที่ผ่านมาปริมาณน้ำต้นทุนมีจำนวนจำกัด จำเป็นต้องจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนตามลำดับความสำคัญ โดยเน้นการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ ควบคุมคุณภาพน้ำ ไม้ผลไม้ยืนต้น และสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนหน้า