จัดระเบียบบัญชีเงินฝากแบบไม่ต้องปวดหัวทีหลัง

ที่มา : สมาคมนักวางแผนการเงินไทย เขียนโดย : ปิติพงษ์ รุ่งเรืองวุฒิกุล นักวางแผนการเงิน CFP®

“บ้านที่ดีต้องสร้างจากโครงสร้างรากฐานที่แข็งแรงฉันใด  ความมั่นคงก็สร้างมาจากโครงสร้างการเงินที่ดีฉันนั้น”

ผู้เขียนเชื่อว่า หลายๆท่านคงเคยมีประสบการณ์ชวนปวดหัว  การบริหารจัดการบัญชีธนาคาร  มากันบ้างไม่มากก็น้อย  มาวันนี้ทางผู้เขียนจะขอแบ่งปันเทคนิคในการวางโครงสร้างบัญชีธนาคารให้ไม่ต้องมาปวดหัวภายหลัง  และแถมช่วยให้ไปถึงเป้าหมายทางการเงินได้ไวขึ้นอีกด้วย  โดยที่โครงสร้างและหน้าที่แต่ละบัญชีเป็นดังนี้

บัญชีตัวกลาง    หัวใจของการบริหารเงิน  เพราะมีหน้าที่รับเงินเข้าจากบัญชีรายรับ  แล้วโอนเงินออกไปยังบัญชีสำหรับการลงทุนและบัญชีรายจ่ายต่อไป

บัญชีรายรับ   มีหน้าที่ในการรับเงินรายได้ และโอนต่อไปที่บัญชีตัวกลาง บัญชีประเภทนี้ มักต้องเปิดกับธนาคารที่ผู้จ่ายเงินเลือกมาให้  ส่วนในกรณีที่สามารถเลือกเปิดกับธนาคารใดก็ได้  ให้เลือกเปิดกับธนาคารเดียวกับบัญชีตัวกลาง  โดยบัญชีรายรับสามารถแบ่งเป็น

– บัญชีรายได้ประจำ  ใช้สำหรับรับรายได้ที่เข้ามาสม่ำเสมอ เช่น เงินเดือน ค่าเช่า  รายได้ชนิดนี้จะมีวันที่เงินเข้าแน่นอน ดังนั้นจึงเหมาะเป็นอย่างยิ่งที่จะใช้การตั้งโอนล่วงหน้าอัตโนมัติให้เข้าบัญชีตัวกลางเป็นประจำทุกเดือน

– บัญชีรายรับไม่ประจำ  ใช้สำหรับรับรายได้ที่เข้ามาไม่สม่ำเสมอ  เช่น ค่าขายสินค้า  ค่าจ้างงานเป็นครั้งๆ บัญชีนี้จะต่างกับบัญชีรายรับประจำ  เพราะว่าเงินที่เข้าไม่ได้มีวันที่แน่นอน เจ้าของบัญชีควรตรวจสอบบัญชีทุกสิ้นเดือนพร้อมจดบันทึกว่าเป็นรายได้จากที่ไหน  แล้วจึงโอนเข้าบัญชีตัวกลาง เพื่อนำไปลงทุนและใช้จ่ายต่อไป

บัญชีสำหรับการลงทุน    มีหน้าที่ดึงเงินจากบัญชีตัวกลางเพื่อส่งต่อเงินไปลงทุนตามสินทรัพย์ต่างๆที่วางแผนไว้

– บัญชีเงินสำรองฉุกเฉิน   บัญชีนี้ควรมีเงินไว้ประมาณ 3-6 เท่าของรายจ่ายต่อเดือน เพื่อใช้ในยามฉุกเฉินจริงๆ โดยเลือกประเภทบัญชีที่สามารถถอนออกมาใช้ได้ทันที และมีเงื่อนไขที่ผ่อนปรนสำหรับกรณีที่บัญชีไม่มีการเคลื่อนไหว

– บัญชีสำหรับลงทุนในกองทุนรวม  มีหน้าที่เป็นตัวกลางในการจ่ายเงินออกเพื่อนำไปลงทุนในกองทุนรวม  รับเงินขายคืนกองทุนรวมและรับเงินปันผล  โดยที่เปิดเป็นบัญชีเดียวกับธนาคารตัวกลางและให้เปิดบัญชีซื้อขายกองทุนผ่าน บลจ. ที่เป็น Open Architecture (สามารถซื้อ ขายกองทุนได้หลาย บลจ. ผ่านทาง บลจ. เดียที่เปิดบัญชีไว้)  ซึ่งทำให้ใช้สมุดบัญชีเล่มเดียวซื้อขายกองทุนได้หลาย บลจ.

– บัญชีสำหรับลงทุนในหุ้น  มีหน้าที่เป็นตัวกลางในการจ่ายเงินออกเพื่อนำไปลงทุนในหุ้น  รับเงินจากการขายหุ้น และรับเงินปันผล  โดยให้เปิดเป็นบัญชีเดียวกับธนาคารตัวกลางเพื่อความสะดวกในการทำธุรกรรมและตรวจสอบ

บัญชีสำหรับรายจ่ายต่างๆ   

– บัญชีสำหรับค่าใช้จ่ายส่วนตัว  แนะนำผูกกับบัตร ATM โดยใส่เงินในบัญชีให้เพียงพอใช้จ่ายประมาณ 1-2 เดือน  เพื่อไม่ให้ใช้เงินเกินจากที่วางแผนไว้และเลือกทำบัตร ATM ที่สามารถถอนเงินได้จากตู้ ATM ทั่วโลกสำหรับคนที่ท่องเที่ยวต่างประเทศเป็นประจำ

– บัญชีสำหรับค่าใช้จ่ายในครอบครัว  แนะนำเลือกธนาคารเดียวกับบัญชีตัวกลางที่มีบริการถอนเงินจากตู้ATM โดยไม่ต้องใช้บัตร  เมื่อสมาชิกครอบครัวต้องการเบิกเงินสดจากบัญชีนี้  เจ้าของบัญชีสามารถทำธุรกรรมผ่าน App บนมือถือแล้วส่งรหัสให้สมาชิกในครอบครัวไปกดรับเงินที่ตู้ ATM ที่สะดวกได้ทันที  วิธีนี้ช่วยให้สามารถใช้บัญชีเดียวเป็นกองกลางที่สามารถเบิกถอนออกไแได้หลายคนโดยมีเจ้าของบัญชีเป็นผู้บันทึกว่าการถอนแต่ละครั้งมีจุดประสงค์เพื่ออะไร

– บัญชีสำหรับค่าผ่อนชำระหนี้ต่างๆ  ใช้สำหรับชำระหนี้สินเชื่อนะยะยาว โดยให้เลือกเปิดบัญชีที่ผู้ให้สินเชื่อ สามารถทำเรื่องตัดเงินอัตโนมัติ (ATS) ได้เพื่อลดขั้นตอนในการที่ต้องไปทำธุรกรรมที่ธนาคาร

cr. ห้องสมุดมารวย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย