บทความโดย เพื่อน ชาวหมู
สถานการณ์ราคาหมูในช่วงที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นการทำงานของกลไกตลาดได้อย่างชัดเจน ซึ่งราคาหมูเนื้อแดงขณะนี้ได้ปรับลงมาอยู่ที่ 170 บาทต่อกิโลกรัม จากราคาได้ปรับสูงในช่วงปีใหม่อยู่ที่ 220 บาทต่อกิโลกรัม โดยผู้เลี้ยงหมูทั่วประเทศได้ร่วมกันรักษาระดับราคาหมูขุนมีชีวิตหน้าฟาร์มมาอย่างต่อเนื่อง ตามประกาศราคาแนะนำของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติสัปดาห์ที่ผ่านมาอยู่ที่ 94 – 97 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งผู้เลี้ยงหมูทั่วประเทศร่วมกันรักษาระดับราคามาอย่างต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 6 เพื่อร่วมช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้บริโภค
การปรับลดราคาที่เกิดขึ้นดังกล่าว เป็นผลจากปริมาณสุกรที่กลับมาสู่จุดสมดุลกับการบริโภค แต่ก็มีความพยายามผลักดันให้ประเทศไทยเปิดนำเข้าเนื้อหมูจากต่างประเทศจากผู้ประกอบการหลายราย ซึ่งเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยืนยันว่า ยังไม่มีนโยบายนำเข้าสุกรจากต่างประเทศ จึงเป็นนโยบายที่ถูกต้อง เนื่องจากขณะนี้ปริมาณเนื้อหมูในประเทศมีเพียงพอกับความต้องการ ที่สำคัญราคาหมูหน้าฟาร์มและหน้าเขียงก็ลดลงดังที่กล่าวข้างต้น
ขณะที่ฟากผู้เลี้ยงหมูไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ และจัดเป็นข้อกังวลอย่างยิ่ง สิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ย้ำเรื่องการนำเข้าหมูว่า การไม่ให้นำเข้าจะเป็นแรงจูงใจสำคัญให้เกษตรกรกลับมาเลี้ยงหมู เพื่อเพิ่มปริมาณหมูเข้าสู่ระบบ การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยืนนโยบายไม่นำเข้าหมูจากต่างประเทศจึงเป็นเรื่องที่ถูกต้อง
เนื่องจากหากเปิดให้มีการนำเข้าหมูจากต่างประเทศ อย่างแรกคือ จะทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูไม่กล้าที่จะกลับเข้าสู่ระบบ นั่นหมายความว่าจะไม่มีวันที่การเลี้ยงหมูของไทยจะฟื้นตัวได้ และเมื่อเปิดให้มีการนำเข้าแล้ว อย่าคาดหวังว่า จะสามารถจำกัดปริมาณการนำเข้าได้
ขนาดว่า ภาครัฐยังไม่มีการอนุญาตให้นำเข้า ยังเห็นการลักลอบนำเข้าหมูเป็นระยะ โดยสำแดงเป็นรายการสินค้าประเภทอื่น ล่าสุด ได้มีการจับกุมการลักลอบนำเข้าเนื้อหมูแช่แข็งรวม 945 กล่อง น้ำหนัก 21 ตัน ไม่มีเอกสารการนำเข้าจากกรมปศุสัตว์ โดยมีการขนถ่ายที่ท่าเทียบเรือแห่งหนึ่งในพื้นที่ภาคตะวันออก และเก็บที่ห้องเย็นในพื้นที่จ.สมุทรสาคร
ดังนั้น หากมีนโยบายนำเข้า พร้อมจำกัดปริมาณนำเข้า ก็ยังไม่อาจมั่นใจว่า การนำเข้าหมูจะเป็นไปตามปริมาณที่กำหนด แน่นอนว่าจะมีการนำเข้ามาเกินกว่าที่กำหนด ประเด็นที่เกิดขึ้นตามมาย่อมกระทบต่อราคาหมูในประเทศ รวมถึงความมั่นคงในอาชีพของเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู นั่นเท่ากับเป็นการทำลายอาชีพเกษตรกร และกลไกการเลี้ยงหมูของไทย รวมทั้งเปิดรับโรคประจำถิ่นที่มีในแต่ละประเทศให้เข้ามาด้วย
ไม่เพียงเกษตรกรผู้เลี้ยงที่ต้องบอบช้ำกับผลกระทบที่เกิดขึ้นเท่านั้น แต่ยังรวมถึงคนไทยผู้บริโภคก็พลอยมีความเสี่ยงที่จะได้รับอาหารที่ปนเปื้อนจากสารต้องห้ามอย่างสารเร่งเนื้อแดง ที่เป็นปัญหาต่อสุขภาพ
จากกรณีของหมูที่เกิดขึ้นนี้ จึงจำเป็นต้องมีการแก้ไขร่วมกันอย่างจริงจังทั้งระบบ ให้ภาคการเลี้ยงสามารถก้าวเดินต่อได้ อาชีพเกษตรกรผู้เลี้ยงสามารถยืนหยัดได้อย่างมั่นคง ผู้บริโภคมีอาหารปลอดภัย ประเทศมีความมั่นคงทางอาหาร