นายฐิติ ลุจินตานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ ธุรกิจการค้าข้าวและอาหารในประเทศและต่างประเทศ กลุ่มธุรกิจข้าวตราฉัตร เปิดเผยว่า ข้าวตราฉัตร มีเป้าหมายความยั่งยืนที่ยกเลิกการใช้พลาสติกที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ภายในปี 2568 ทั้งนี้ จากยุทธศาสตร์ความยั่งยืนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่มุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กรสหประชาชาติ ทั้ง 17 ประการ กลุ่มธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือข้าวตราฉัตร ได้นำนโยบายนี้มาปรับใช้ภายในองค์กร จึงเกิดเป็นปณิธานทั้ง 3 ข้อ 1. มุ่งมั่นที่จะยกเลิกการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่มีปัญหา หรือไม่จำเป็นภายในองค์กร 2. เปลี่ยนการใช้บรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียวทิ้งไป สู่รูปแบบที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ และ3. 100% ของบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่นำมาใช้ ต้องสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้
ปัจจุบัน ถุงข้าวตราฉัตร ได้ปรับเปลี่ยนด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้ถุงข้าวตราฉัตรสามารถนำไปรีไซเคิลได้อย่างสมบูรณ์ โดยตั้งเป้าพัฒนาต่อเนื่องในอนาคตให้ถุงข้าวตราฉัตรมีประสิทธิภาพสูงและแข็งแรงยิ่งขึ้น ในขณะที่ช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมด้านการลดใช้ปริมาณพลาสติกและพลังงาน ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสาเหตุของภาวะโลกร้อน
ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือนี้ ข้าวตราฉัตรได้พัฒนาถุงข้าวรุ่นใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น เพื่อวางจำหน่ายในไตรมาสแรกของปี 2564 ด้วยเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดเป็นแบรนด์แรกในไทย โดยผลิตถุงข้าวจากเม็ดพลาสติก INNATE™ คุณภาพสูงของ Dow ด้วยเทคนิค ดาวน์ เกจจิ้ง ทำให้ถุงข้าวสารบางลงจากเดิม 110 ไมครอน เหลือ 90 ไมครอน แต่แข็งแรง ทนทานยิ่งขึ้นกว่าเดิม สามารถทนการตกกระแทกจากความสูง 4 เมตรได้โดยไม่แตกรั่ว พร้อมระบบเก็บล็อคความสดใหม่ และกลิ่นหอมของข้าวได้ดีดังเดิม
นอกจากนี้ยังช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนด้วยการประหยัดปริมาณพลาสติก และลดพลังงานในกระบวนการบรรจุด้วยการใช้อุณหภูมิที่ต่ำลงในการปิดปากถุงข้าว
ในช่วงเริ่มต้นคาดว่าจะลดปริมาณการใช้พลาสติกได้กว่า 300 ตันต่อปี ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 600 ตันคาร์บอนต่อปี เทียบเท่ากับปลูกต้นไม้กว่า 600 ไร่ และเป็นการส่งเสริมการรีไซเคิล เนื่องจากเป็นถุงฟิล์มหลายชั้นที่ผลิตจากพลาสติกโพลีเอทิลีนชนิดเดียวที่รีไซเคิลได้ง่าย อีกทั้งยังเข้าร่วมโครงการ “มือวิเศษ x วน โดย PPP Plastics” ร่วมรณรงค์ให้ผู้บริโภคนำถุงข้าวตราฉัตรมาบริจาคที่จุดดรอปพอยต์ของโครงการฯ กว่า 300 จุดทั่วกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง หรือรวบรวมส่งทางไปรษณีย์ เพื่อให้ถุงข้าวตราฉัตรเข้าสู่วงจรเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างสมบูรณ์ ไม่ก่อให้เกิดปัญหาขยะพลาสติกตกค้างในสิ่งแวดล้อมอีกด้วย”
นายฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหารกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย เปิดเผยว่า Dow รู้สึกยินดีที่ข้าวตราฉัตร ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม โดยร่วมกันพัฒนาถุงข้าวที่รีไซเคิลได้ง่าย และ ยังมุ่งมั่นประหยัดทรัพยากร และลดโลกร้อน ความร่วมมือนี้สอดคล้องเป็นอย่างยิ่งกับเป้าหมายด้านความยั่งยืนของ Dow ในการต้านโลกร้อน ด้วยการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้ง การลดขยะพลาสติก และ ส่งเสริมวงจรรีไซเคิล
นายภราดร จุลชาต กรรมการผู้จัดการ บริษัท พรีแพค ประเทศไทย จำกัด ในเอสซีจีพี (SCGP) กล่าวว่า เอสซีจีพีให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและการดูแลสิ่งแวดล้อม ตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน และนำแนวทางของระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะช่วยให้การใช้ทรัพยากรมีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งในด้านการออกแบบสินค้าและบริการให้เจ้าของสินค้า และผู้บริโภคได้รับความสะดวก ใช้งานง่าย ใช้ทรัพยากรน้อยแต่คงทนแข็งแรง ใช้ซ้ำและรีไซเคิลได้ และ ในด้านกระบวนการ มีการปรับปรุงการผลิตและการดำเนินการให้เกิด Circular Economy ตลอดทั้ง Supply Chain เช่น การลดการใช้น้ำและพลังงานในกระบวนการผลิต
ทั้งนี้ ผู้บริโภคสามารถนำถุงข้าวตราฉัตรทิ้งลงในถังรีไซเคิลตามปกติ หรือ นำมาบริจาคที่ “ถังวนถุง” ในห้างสรรพสินค้า อาทิ มาบุญครอง เซ็นทรัล เดอะมอลล์ เทสโก้ โลตัส และปั๊มน้ำมันบางจาก เป็นต้น (เช็คจุดตั้ง “ถังวนถุง” ใกล้บ้านได้ที่ shorturl.at/wBGKV) หรือ รวบรวมส่งทางไปรณีย์มาที่ “โครงการ วน” บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) 42/174 ม.5 ต.ไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม 73210 โดยถุงข้าวตราฉัตรที่ประชาชนนำมามอบให้ “ถังวนถุง” จะมีมูลค่า กิโลกรัมละ 5 บาท เป็นเงินบริจาคให้กับมูลนิธิด้านสิ่งแวดล้อมต่อไป