บทความโดย นิกร ประกอบดี
หากยังจำได้ว่ามีการพบบ่อบำบัดน้ำเสียในโครงการบำบัดน้ำที่ปากพนังซึ่งถูกทิ้งร้างจนกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของปลาหมอคางดำและมีชาวบ้านแห่จับส่งขายรัฐได้เป็นจำนวนมากนั้น น่าจะเป็นเพราะเป็นพื้นที่ของรัฐที่ทิ้งร้าง ชาวบ้านจึงกล้าที่จะเข้าไปจับปลาไปขาย ช่วยกำจัดปลาหมอคางดำได้ดีและช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้จากการขายปลาด้วย ส่วนบ่อร้างในพื้นที่ส่วนบุคคล … คงไม่มีใครกล้าเข้าไปบุกรุก แล้วรัฐจะแก้ปัญหาตรงนี้อย่างไร
ชาวบ้านในพื้นที่สมุทรสาคร-สมุทรสงครามเล่าให้ฟังว่า แม้ปลาหมอคางดำตามลำคลองแหล่งน้ำธรรมชาติจะลดลงมากแล้ว ที่เหลืออยู่ก็พวกตัวเล็กตัวน้อย แต่อยากให้รัฐแวะไปดูตามบ่อร้างหรือกระชังที่ทิ้งร้างไว้ มันยังมีปลาหมอคางดำอีกเยอะที่ไม่มีใครกล้าจับ เพราะเป็นที่ที่มีเจ้าของ การเข้าไปจับในบ่อร้างเหล่านั้น อาจถูกมองว่าเป็นการบุกรุก ลักทรัพย์ หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ผิดกฎหมาย และเจ้าของที่สามารถแจ้งความดำเนินคดีได้ ทำให้ไม่มีใครกล้าเข้าไปกำจัดปลาเหล่านั้น ทั้งๆ ที่มันเป็นสัตว์รุกรานที่รับรู้กันอยู่ทั่วไปแล้วว่าต้องช่วยกันทำลาย นับเป็นข้อจำกัดของการกำจัดปลาหมอคางดำที่อาจจะมองได้หลายมุม
มุมที่ 1 : บ่อร้างอาจเป็นบ่อร้างจริงๆ ที่เจ้าของบ่อละเลย ไม่มาดูแล ขณะที่ชาวประมง – ชาวบ้านเห็นปลาหมอคางดำจำนวนมากแล้วอยากจะจับไปส่งขายเหลือเกิน แต่ก็ไม่สามารถรุกเข้าไปพื้นที่ดังกล่าวได้ ทำให้ปริมาณปลายังคงค้างอยู่ในบ่อร้าง ไม่ได้ถูกกำจัด และสุ่มเสี่ยงต่อการเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ ง่ายต่อการแพร่ระบาดอีก ตรงนี้รัฐจำเป็นต้องออกกฎหมายเฉพาะ เพื่อให้การกำจัดปลาหมอคางดำสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างถึงที่สุด
มุมที่ 2 : บ่อไม่ได้ร้างจริง โดยเจ้าของพยายามกางปีกป้องไว้ไม่ให้ใครเข้าถึง แต่ในบ่อนั้นเต็มไปด้วยปลาหมอคางดำที่ปล่อยทิ้งไว้ให้มันโต เพื่อให้ได้ราคามากขึ้นเวลาจับไปขายให้รัฐ เข้าข่ายเลี้ยงเพื่อวนขาย อันนี้ผิดกฎหมายชัดเจน แต่ไม่รู้เจ้าหน้าที่ทำอะไรกับกลุ่มนี้ได้กี่มากน้อย ทั้งที่จริงๆแล้วเชื่อว่ารัฐสามารถดำเนินการขั้นเด็ดขาดได้เลย จากประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ออกมาก่อนหน้านี้ ว่าด้วยเรื่องกำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามเพาะเลี้ยงในราชอาณาจักร พ.ศ.2564 โดยห้ามเพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำ หากผู้ใดฝ่าฝืนจะถูกดำเนินคดีตามมาตรา 144 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากนำไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 ล้านบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
มุมที่ 3 : เคยไปนั่งทานอาหารที่ร้านอาหารริมน้ำแห่งหนึ่ง ปลาในบ่อมีแต่ปลาหมอคางดำ เจ้าของร้านก็นั่งโปรยอาหารเม็ดให้มัน ทั้งยังมีอาหารเม็ดขายให้ลูกค้าเลี้ยงปลาด้วย … แบบนี้ไม่รู้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเข้าถึงได้แค่ไหนหรือมองข้ามไป ทั้งที่สามารถเอาผิดได้ทันที
มุมที่ 4 : ไม่ใช่บ่อร้าง แต่เป็นบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ (กุ้งหรือปลา) ที่ใช้วิธีถ่ายเทน้ำเข้า-ออก ระหว่างบ่อกับลำคลอง หรือ แหล่งน้ำธรรมชาติเป็นกิจวัตร ตรงนี้เป็นจุดบอดสำคัญ ที่แม้รัฐจะกำจัดปลาจากแหล่งน้ำธรรมชาติไปได้มากแล้ว หากยังมีการถ่ายน้ำที่มีปลาหมอคางดำค้างอยู่ในบ่อเหล่านั้นออกสู่ลำคลอง ก็เหมือนเป็นการเติมปลาเข้าสู่แหล่งน้ำธรรมชาติไม่รู้จบ ข้อนี้ไม่ผิดกฎหมาย แต่จำเป็นต้องให้ความรู้เกษตรกร เช่นการแนะนำให้ปรับรูปแบบการเลี้ยงปลาตามลำคลองในจังหวัดที่มีการแพร่กระจายของปลาหมอคางดำ โดยให้ใช้วิธีเลี้ยงกุ้ง-เลี้ยงปลาในระบบปิด ยุติการถ่ายน้ำเข้าออก หรืออย่างน้อยต้องมีวิธีกำจัดปลาแปลกปลอมอย่างเข้มงวด เช่น การใช้กากชาจนมั่นใจว่า ไม่เหลือปลาหมอคางดำในบ่อแล้ว จึงค่อยเริ่มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
ไม่ว่าจะเป็นมุมไหน ข้อจำกัดเหล่านี้น่าจะถูกนำเข้าที่ประชุมของผู้หลักผู้ใหญ่ที่จะสามารถตัดสินใจได้ว่า ต้องแก้กฏหมายอย่างไรให้รัฐจับปลาได้โดยที่เจ้าของบ่อร้างนั้นต้องยอมจำนน หรือการบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด เอาผิดคนที่เลี้ยงปลาหมอคางดำได้ ไม่ว่าจะเพื่อวนไปขายให้รัฐ หรือเพื่อให้แขกในร้านได้เพลิดเพลิน เพราะจุดประสงค์สูงสุดคือการทำลายปลาชนิดนี้ให้มากที่สุด จำกัดประชากรปลาให้ลดลงเหลือน้อยที่สุด ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมทั้งหมด ไม่ใช่ปล่อยให้ใครหาประโยชน์ในขณะที่หลายฝ่ายกำลังช่วยกันกำจัดมันอย่างจริงจัง.