นางสาววิลาวรรณ พยาน้อย รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลาง เปิดเผยผลการใช้จ่ายเงินงบประมาณฯ ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณจนถึงวันที่ 11 กันยายน 2563 (1 ต.ค. 62 – 11 ก.ย. 63) งบประมาณภาพรวมใช้จ่ายแล้ว 2,861,087 ล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 3,200,000 ล้านบาท คิดเป็น 89.41% โดยแบ่งเป็น รายจ่ายลงทุน (ไม่รวมงบกลาง) ใช้จ่ายแล้ว 425,332 ล้านบาท ของวงเงิน 529,771 ล้านบาท หรือคิดเป็น 80.29% และรายจ่ายประจำ ใช้จ่ายแล้ว 2,424,9131 ล้านบาท ของวงเงิน 2,608,073 ล้านบาท หรือคิดเป็น 92.98%
จากการพิจารณาการใช้จ่ายเงินงบประมาณ พบว่าการใช้จ่ายเงินงบประมาณของปี 2563 มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงระยะเวลาการใช้จ่ายเงินที่เท่ากันตั้งแต่ พ.ร.บ. งบประมาณฯ ประกาศใช้ในแต่ละปีที่ผ่านมา โดยในปีนี้สามารถใช้จ่ายรายจ่ายลงทุน คิดเป็นสัดส่วน 72.64% ของวงเงินรายจ่ายลงทุน (ไม่รวมงบกลาง) ในขณะที่สัดส่วนดังกล่าวของปีงบประมาณ 2562 และ 2561 คิดเป็น 64.88% และ 64.65% ตามลำดับ เป็นผลจากการที่กรมบัญชีกลางเร่งรัดการใช้จ่ายเงินงบประมาณ โดยออกหนังสือเวียนแจ้งซักซ้อมการปฏิบัติงานด้านการเงินการคลัง และมีการกำกับติดตามการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยงานต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายเงินของส่วนราชการ ให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็วและถูกต้องตามกฎหมาย ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง ตลอดจนกำหนดแนวทางต่าง ๆ เพื่อลดระยะเวลาในการจัดซื้อจัดจ้าง เน้นความรวดเร็วของขั้นตอนต่าง ๆ รวมทั้งเร่งพิจารณาข้ออุทธรณ์ร้องเรียน เพื่อให้การทำงานของหน่วยงานมีความคล่องตัวยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ กรมบัญชีกลางอยู่ระหว่างพิจารณาปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มความสะดวกในการดำเนินงานให้มากขึ้น ทั้งนี้ กรมบัญชีกลางพร้อมสนับสนุนส่วนราชการ โดยเตรียมความพร้อมในการใช้จ่ายเงินงบประมาณปี พ.ศ.2563 ไปพลางก่อน และให้ดำเนินการกันเงินไว้เบิกเหลื่อมปีให้แล้วเสร็จตามกำหนด กรณีงบประมาณก่อนปีงบประมาณ พ.ศ.2562 ต้องเบิกจ่ายให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 30 กันยายน 2563 และกรณีงบประมาณ พ.ศ.2563 ต้องขอกันเงินไว้เบิกเหลื่อมปี ภายในวันทำการสุดท้ายของเดือนกันยายน 2563 หากไม่ดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนด งบประมาณดังกล่าวต้องถูกพับไป โดยกรมบัญชีกลางได้กำชับให้คณะทำงานเฉพาะกิจฯ และคลังจังหวัด ให้คำแนะนำ ปรึกษา เพื่อให้การ ก่อหนี้รายจ่ายลงทุนแล้วเสร็จทุกรายการภายในสิ้นปีงบประมาณ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าส่วนราชการจะสามารถใช้จ่ายเงินงบประมาณได้ตามเป้าหมายที่กำหนด อันจะส่งผลให้มีเม็ดเงินไหลเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจต่อไป