กรมชลประทาน คิดค้นนวัตกรรมเรือ “อุทกชลประทาน 1” เรือเก็บตัวอย่างตะกอนดินและคุณภาพน้ำลำแรกของไทย ปลอดภัย ทุ่นแรง ลดเวลาการทำงานให้รวดเร็วขึ้น นำร่องทดลองเก็บตัวอย่างตะกอนและคุณภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี แห่งแรก
นายทินกร เหลือล้น ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 9 เปิดเผยว่า อ่างเก็บน้ำบางพระ ถือเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญที่สุดในพื้นที่จ.ชลบุรี และเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ความจุเก็บกัก 117 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ การเกษตร การท่องเที่ยว และการอุตสาหกรรม ประมาณ 80 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี แต่เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่รับน้ำของอ่างฯ ส่งผลให้ปริมาณน้ำท่าไหลลงอ่างฯ เฉลี่ยเหลือประมาณ 40 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี สวนทางกับการคาดการณ์ในอีก 5 ปี ข้างหน้า ที่ความต้องการใช้น้ำในอ่างฯ บางพระจะเพิ่มขึ้นเป็น 150 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี จึงจำเป็นต้องนำน้ำต้นทุนจากแหล่งน้ำอื่น ๆ มาเสริมน้ำต้นทุนในอ่างฯ บางพระ โดยการสูบผันน้ำส่วนเกินจากแหล่งอื่นในช่วงฤดูฝน ได้แก่ ระบบสูบผันน้ำจากคลองพระองค์ไชยานุชิต จังหวัดสมุทรปราการ และระบบสูบผันน้ำจากแม่น้ำบางประกง จังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมติดตามและควบคุมคุณภาพน้ำให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเป็นประจำ แต่ในส่วนของอ่างฯ บางพระจะพิเศษกว่าแหล่งน้ำอื่น ๆ ที่มีระบบโทรมาตรตรวจวัดคุณภาพน้ำ ที่สามารถตรวจวัดได้แบบ Real Time ทั้งบริเวณอ่างเก็บน้ำและปลายท่อสูบผันน้ำที่สูบมาจากแหล่งน้ำอื่นก่อนที่น้ำจะไหลลงอ่างเก็บน้ำบางพระ
นอกจากนี้ ยังได้ศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับตะกอนดินและคุณภาพน้ำ เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการเชิงปริมาณและคุณภาพของน้ำในอ่างเก็บน้ำ โดยคิดค้นนวัตกรรมเรือเก็บตัวอย่างตะกอนและคุณภาพน้ำ “อุทกชลประทาน 1” ซึ่งเป็นเรือลำแรกของประเทศไทย โดยได้รับความร่วมมือจาก ฝ่ายตะกอนและคุณภาพน้ำ สำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา และสำนักงานสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (USGS : United States Geological Survey) ด้านการจัดการตะกอนในอ่างเก็บน้ำ และ The Australian Partnership (AWP) ด้านการจัดการคุณภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ เพื่อพัฒนาการจัดการตะกอนและคุณภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำของกรมชลประทานในการนํามาวิเคราะห์วางแผนการระบายและขุดลอกตะกอนดิน รวมไปถึงการควบคุมคุณภาพน้ำ เนื่องจากอ่างเก็บน้ำที่มีค่าความขุ่นมากหรือมีอายุการใช้งานมายาวนาน จะเกิดการตกตะกอนมาก ซึ่งส่งผลให้พื้นที่เก็บกักน้ำในอ่างเก็บน้ำลดน้อยลง อีกทั้งตะกอนยังสามารถดูดซับค่าความเค็มสะสมไว้จนน้ำมีค่าความเค็มสูงขึ้นในช่วงที่ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำมีน้อย
ด้าน นายไวรุจน์ เอี่ยมโอภาส ผู้อำนวยการศูนย์อุทกวิทยาชลประทาน ภาคตะวันออก เปิดเผยว่า เรือเก็บตัวอย่างตะกอนดินและคุณภาพน้ำ “อุทกชลประทาน 1” จะเป็นเครื่องมือสนับสนุนการเก็บตัวอย่างตะกอนดินและคุณภาพน้ําได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีความปลอดภัย ทุ่นแรง และใช้เวลาดําเนินการลดลง สำหรับคุณสมบัติของเรืออุทกชลประทาน 1 ได้ดำเนินการออกแบบโดยสำนักเครื่องจักรกล ความยาวของเรือตลอดลำ 6.35 เมตร พื้นเรือกว้าง 2.50 เมตร สามารถรองรับน้ำหนักเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์การตรวจวัดคุณภาพน้ำได้มากถึง 1,200 กิโลกรัม และมีช่องเปิดบริเวณท้องเรือสำหรับหย่อนอุปกรณ์ที่ใช้ในการเก็บตะกอนอีกด้วย