กรมชลฯ จัดงบ 5.6 พันล้านบาท เตรียมจ้าง 9.4 หมื่นคน สร้างงานในพื้นที่

นายทวีศักดิ์  ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร และแรงงานที่ถูกเลิกจ้างจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 กรมชลประทาน ได้จัดสรรงบประมาณปี 2564 วงเงิน 5,662 ล้านบาท สำหรับจ้างงานเกษตรกรจำนวน 94,000 คน ได้รับค่าจ้างเฉลี่ยคนละ13,294 บาท ทำงานซ่อมแซม บำรุงรักษา ขุดลอก ปรับปรุง งานชลประทาน โครงการส่งเสริมการดำเนินงานอันเนื่องจากพระราชดำริ งานก่อสร้างแหล่งน้ำ และระบบน้ำเพื่อชุมชน แก้มลิง และการจัดการคุณภาพน้ำ               

ล่าสุดไตรมาส 1 ปี 2564 มีการจ้างงานไปแล้ว 8,237 คน ประมาณ 8.76% ของเป้าหมายที่วางไว้ วงเงินที่จ้างงานประมาณ 109.49 ล้านบาท หรือประมาณ 1.93% ของงบประมาณที่ตั้งไว้ สำหรับหลักเกณฑ์การจ้างงานจะให้กับ 4 กลุ่ม คือ

  • เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร หรือเกษตรกรในพื้นที่
  • สมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำของกรมชลประทานในพื้นที่
  • ประชาชนผู้ใช้แรงงานทั่วไปในพื้นที่
  • หากแรงงานในพื้นที่ไม่พอ ให้พิจารณาจ้างเกษตรกรแรงงานในพื้นที่ใกล้เคียง จากหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัดและลุ่มน้ำตามลำดับ

“กรมชลประทาน จะจัดสรรงบประมาณ เพื่อจ้างงานในช่วงฤดูแล้ง ในช่วงที่เกษตรกรไม่สามารถเพาะปลูกได้  ส่วนการระบาดของโควิด-19 อาจส่งผลให้มีคนตกงานจำนวนมาก มีแรงงานเกษตรกรที่เข้าไปรับจ้างในกรุงเทพฯ  หรือเมืองอุตสาหกรรม ที่มีการหยุดงาน หรือโรงงานปิดกิจการ ร้านอาหารไม่สามารถเปิดได้ตามปกติ ทางกรมชลประทานก็จะประกาศเชิญชวน ให้เข้ามาร่วมทำงานด้วยกัน หากคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่ตั้งไว้ ก็พร้อมรับเข้าทำงาน” นายทวีศักดิ์ กล่าว

นายทวีศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับโครงการการจ้างงาน เพื่อจ้างเกษตรกรประจำปี 2563 ภายใต้งบประมาณ  4,498 ล้านบาท จ้างแรงงานวงเงิน 2,713 ล้านบาท หรือ 60% ของงบประมาณที่ตั้งไว้ แต่จ้างเกษตรกรทำงานได้ประมาณ 91,159 คน สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ หรือประมาณ 103% ของเป้าหมายที่วางไว้ที่จำนวน 88,838 คน แบ่งเป็นงบประมาณรายจ่ายประจำปีวงเงิน 4,248 ล้านบาท เป้าหมายจ้างเกษตรกรทำงานได้ 81,538 คน และงบกลาง รายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2563 วงเงิน 250 ล้านบาทเป้าหมายจ้างเกษตรกรทำงานได้ 7,300 คน

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2563 เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการรับจ้างทำงานกับกรมชลประทาน เฉลี่ยมีรายได้ประมาณคนละ 29,770 บาท สำนักชลประทานที่มีการจ้างงาน มากที่สุด 3 อันดับ ได้แก่ สำนักชลประทานที่ 7  จ้างงานจำนวน 14,761 คน  สำนักชลประทานที่ 5 จ้างงานจำนวน 9,161 คน  และสำนักชลประทานที่ 8 จ้างงาน จำนวน 8,148 คน โดยหลักเกณฑ์การจ้างงานยังยึดเกณฑ์เดิมเหมือนทุกปี คือจ้างเกษตรกรในพื้นที่ หากไม่มีเกษตรกรร่วมโครงการ ก็ให้พิจารณาจ้างเกษตรกรแรงานในพื้นที่ใกล้เคียง จากหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัดและลุ่มน้ำ ตามลำดับ

สำหรับ จังหวัดที่มีการจ้างแรงงาน เพื่อ ซ่อมแซม บำรุงรักษา ขุดลอก ปรับปรุง งานชลประทาน ขุดลอกคูคลอง มากที่สุด 3 อันดับได้แก่ จังหวัดอุบลราธานี จ้างแรงงานจำนวน 5,781 คน จังหวัดเชียงใหม่จ้างแรงงานจำนวน 5,377 คน และจังหวัดสกลนคร จ้างแรงงาน 3,938 คน ตามลำดับ