กรมชลประทาน เดินหน้าบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา คุมเข้มการจัดสรรน้ำให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ พร้อมขอให้ทุกฝ่ายร่วมใจกันประหยัดน้ำ หลังปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลัก ลดลงต่อเนื่อง ขณะที่ฤดูแล้งยังเหลืออีกกว่า 3 เดือน
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยหลังการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ว่า ปัจจุบัน อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 45,453 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 59 ของความจุอ่างฯ รวมกัน มีน้ำใช้การได้ประมาณ 21,378 ล้าน ลบ.ม. ผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งทั้งประเทศ มีการใช้น้ำไปแล้ว 7,083 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 41 ของแผนฯ
ด้านลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ใช้น้ำต้นทุนจาก 4 เขื่อนหลัก คือเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 11,197 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 45 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 4,501 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำใกล้เคียงกับปี 63 ที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้มีการใช้น้ำไปแล้ว 2,052 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 51 ของแผนฯ ด้านพื้นที่การเกษตรคงเหลือพื้นที่ที่ทำนาปีล่าช้าอยู่อีกประมาณ 60,000 ไร่ ที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยว กรมชลประทาน ได้สนับสนุนน้ำให้แก่พื้นที่ดังกล่าว จนกว่าเกษตรกรจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ ทั้งนี้ เนื่องจากฤดูฝนที่ผ่านมีปริมาณฝนตกทางตอนบนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติ ทำให้ปริมาณน้ำต้นทุนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาอยู่ในเกณฑ์น้อย ไม่สามารถสนับสนุนการทำนารอบ2(นอกแผน)ได้ จำเป็นต้องเก็บกักน้ำไว้เพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ ผลักดันน้ำเค็ม ตลอดจนรักษาเสถียรภาพคันคลอง และไม้ยืนต้น จึงขอให้ทุกภาคส่วนร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัดด้วย
สภาพปัจจุบัน มีหลายพื้นที่เริ่มประสบปัญหาภัยแล้ง จึงได้สั่งการให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ ปรับแผนการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เน้นส่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคให้เพียงพอ พร้อมประสานความร่วมมือในการบริหารจัดการน้ำระหว่างโครงการชลประทานในพื้นที่ เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำและประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถึงสถานการณ์น้ำให้แก่ประชาชนรวมทั้งเกษตรกรได้รับทราบอย่างทั่วถึง และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตลอดจนการติดตามกำจัดวัชพืชในลำน้ำและคลองสาขาที่อาจจะเป็นอุปสรรคในการส่งน้ำไปยังพื้นที่ต่างๆด้วย
ทั้งนี้ กรมชลประทาน จะบริหารจัดการน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดด้วยความเป็นธรรมและทั่วถึง เพื่อให้ทุกพื้นที่มีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคตลอดในช่วงฤดูแล้งนี้ หากประชาชนหรือหน่วยใดต้องการความช่วยเหลือ สามารถร้องขอไปยังสำนักงานชลประทาน หรือโครงการชลประทานในพื้นที่ หรือโทร.1460 สายด่วนกรมชลประทานได้ตลอดเวลา