Home Blog Page 132

ก.ล.ต. เตือนประชาชน ใช้ความระมัดระวังในการทำธุรกรรม DeFi

รายงานข่าวเปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ขอให้ประชาชนใช้ความระมัดระวังในการทำธุรกรรมเกี่ยวกับบริการทางการเงินแบบกระจายศูนย์ (Decentralized Finance: DeFi) เนื่องจากมีความเสี่ยงและไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานกำกับดูแลของไทย

DeFi เป็นบริการทางการเงินแบบกระจายศูนย์บนระบบบล็อกเชน ไม่พึ่งพาตัวกลาง โดยใช้กลไกควบคุมการดำเนินการต่าง ๆ ให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดผ่านสัญญาอัจฉริยะ (smart contract) ปัจจุบัน DeFi ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะ DeFi ที่ให้บริการในลักษณะการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีการจ่ายผลตอบแทนแก่ผู้ฝาก (deposit taking & lending) ทั้งในรูปแบบการนำสินทรัพย์ดิจิทัลไปหาประโยชน์ต่อ เช่น นำไปให้ยืม หรือนำไปลงทุนต่อ ซึ่งการให้บริการในลักษณะดังกล่าวมักจะแสดงผลตอบแทนสูงเพื่อจูงใจผู้ซื้อขายให้เข้ามาทำธุรกรรม

อย่างไรก็ดี การทำธุรกรรม DeFi มีความเสี่ยงหลายด้าน ทั้งความเสี่ยงจากตัวผลิตภัณฑ์และบริการ ซึ่งอาจมีความซับซ้อน ความเสี่ยงจากการให้ยืมสินทรัพย์ดิจิทัลเกินกว่ามูลค่าหลักประกัน (overleverage) ความเสี่ยงที่ผู้ใช้งานอาจได้รับข้อมูลไม่เพียงพอ หรือถูกเอาเปรียบจากผู้ให้บริการ นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงด้านเทคนิคและความปลอดภัย รวมถึงข้อกำหนด เงื่อนไข และฟังก์ชันการทำงานต่าง ๆ ที่อาจมีช่องโหว่ ตลอดจนการถูกหลอกลวง ฉ้อโกง เช่น การ Rug Pull เป็นต้น

ดังนั้น ผู้ซื้อขายจึงควรศึกษาโครงการ DeFi ก่อนที่จะเข้าร่วมโครงการ และควรใช้ความระมัดระวังในการทำธุรกรรมเนื่องจากการให้บริการในลักษณะ deposit taking & lending ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานกำกับดูแลภาคตลาดเงินและตลาดทุนในประเทศไทย โดยปัจจุบัน ก.ล.ต. อยู่ระหว่างพิจารณาทบทวนแนวทางการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล โดยไม่สนับสนุนธุรกรรมในลักษณะ deposit taking & lending ทั้งในรูปแบบ decentralized finance หรือ centralized finance และอยู่ระหว่างหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางกำกับดูแลเพื่อคุ้มครองผู้ลงทุนอย่างเหมาะสมต่อไป

เกษตรกรเลี้ยงหมู วอนรัฐจัดการปัญหาหมูเถื่อนเกลื่อนเมือง

นายสุนทราภรณ์ สิงห์รีวงศ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ เปิดเผยว่า สถานการณ์สุกรในขณะนี้มีความผิดปกติ เนื่องจากปริมาณหมูที่ส่งเข้าพื้นที่ภาคเหนือมีมากเกินความเป็นจริง จากปกติจะมีหมูเข้าเชือดในพื้นที่ประมาณ 2,000-3,000 ตัวต่อเดือน และมีการนำเข้าซากหมูหรือหมูที่เชือดแล้วประมาณ 2-3 ล้านกิโลกรัมต่อเดือน แต่ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2565 มีการนำเข้า “ซากหมู” ขึ้นมาทางภาคเหนือเพิ่มขึ้นเป็น 5 ล้านกิโลกรัมต่อเดือน ส่งผลกระทบให้ยอดขายหมูมีชีวิตในฟาร์มเริ่มช้าลง 30%

สุนทราภรณ์ สิงห์รีวงศ์

“มันคิดไปในทางอื่นไม่ได้เลย เพราะผลผลิตหมูไทยที่เกษตรกรช่วยกันเลี้ยงนี้จะค่อย ๆ เพิ่มปริมาณเข้าสู่สมดุลได้ราวสิ้นปี แต่ จู่ๆ กลับมีปริมาณหมูในตลาดเพิ่มขึ้นผิดปกติ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นหมูนำเข้าที่ผิดกฏหมาย เพราะประเทศไทยไม่อนุญาตให้มีการนำเข้าหมู ซึ่งนอกจากจะกระทบสุขอนามัยของผู้บริโภคแล้ว ยังส่งผลถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูที่กำลังง่วนกับการเลี้ยงหมูปลอดภัยภายใต้ต้นทุนการป้องกันโรคที่สูงขึ้น ทำลายแผนการฟื้นฟูหมูไทยในระยะกลางและระยะยาวด้วย”

ทั้งนี้ หมูจำนวนมากเข้ามาตีตลาดในภาคเหนือ ส่งผลทำให้เกษตรกรขายหมูได้น้อยลง เช่น เขียงเคยเข้ามาจับ 3 ตัวต่อวันก็จับเหลือเพียง 1-2 ตัวต่อวัน โดยราคาขายหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มในพื้นที่ภาคเหนือราคาประมาณ 110 บาท/กก. ทำให้ผู้เลี้ยงต้องเลี้ยงหมูที่ยังขายไม่ได้ต่อไป และเริ่มสะสมน้ำหนักเกิน 100 กก. ต้นทุนการเลี้ยงยิ่งสูงขึ้น หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้หวั่นเกรงจะกระทบต่อราคาขายจะเริ่มลดลง

ที่ผ่านมา เกษตรกรได้เรียกร้องให้รัฐแก้ปัญหาหมูเถื่อน หรือ หมูลักลอบนำเข้ามาโดยตลอด และกรมปศุสัตว์ก็มีการตรวจจับบ้างประปรายในจำนวนไม่มากนัก สวนทางปริมาณหมูเถื่อนที่มีอยู่จริงเป็นจำนวนมากในท้องตลาด ทุกคนทราบดีว่าหมูเถื่อนจะบรรจุเป็นกล่องมาในตู้คอนเทนเนอร์ ระบุต้นทางมาจากประเทศเยอรมนี สเปน ซึ่งสำแดงเท็จเป็นปลาและอาหารสัตว์หรืออาหารทะเล เพื่อหลบเลี่ยงการตรวจโรคระบาด ASF ที่กำลังระบาดอย่างมากในยุโรป และหลบเลี่ยงการขอใบอนุญาตขนย้ายซากสัตว์จากกรมปศุสัตว์ เมื่อนำเข้ามาได้แล้วก็จะกระจายนำไปฝากห้องเย็นเดือนละไม่ต่ำกว่า 1,000 ตู้ ทั้งที่จังหวัดสมุทรสาคร นครปฐม สมุทรปราการ และห้องเย็นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วางขายกันเกลื่อนตลาดจนส่งผลกระทบต่อราคาหมูมีชีวิตของเกษตรกรไทย

“ระดับราคาหมูเถื่อนถูกกว่าหมูไทย เนื่องจากไม่มีมาตรการป้องกันโรคหรือตรวจสอบย้อนกลับที่ดี ต้นทุนการผลิตหมูจึงถูกกว่า ส่วนเครื่องในเขาก็ไม่กิน การส่งมาขายที่ไทยจึงเปรียบเหมือนได้ทั้งเงินและลดขยะในบ้านเขา ที่สำคัญ หมูเถื่อนเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากคนไทย ทั้งภาครัฐผู้ที่มีหน้าที่ตรวจสอบป้องกันแต่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งผู้ประกอบการร้านอาหารที่หันไปซื้อของถูกมาปรุงให้ผู้บริโภคกิน คนรับกรรมก็คือผู้บริโภคคนไทยทั้งประเทศ และเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูจะไม่สามารถฟื้นฟูผลผลิตได้ตามเป้าหมาย จึงต้องขอร้องให้ภาครัฐขจัดปัญหาหมูเถื่อนอย่างจริงจังโดยทันที” นายสุนทราภรณ์กล่าว

รมว.ท่องเที่ยวบรูไนฯ ชมครัวโลกซีพีเอฟ ผู้นำอาหารปลอดภัย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรพื้นฐานและการท่องเที่ยว บรูไนดารุสซาลาม พร้อมด้วย เอกอัครราชทูตบรูไนดารุสซาลาม ประจำประเทศไทย และคณะ เข้าเยี่ยมชมโรงงานแปรรูปเนื้อไก่โคราช อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา ของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ภายใต้กระบวนการผลิตอาหารปลอดภัย ด้วยเทคโนโลยีการผลิตทันสมัย ได้มาตรฐานอาหารสากลระดับโลก ที่มีการควบคุมและตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดห่วงโซ่การผลิต ตอกย้ำวิสัยทัศน์ “ครัวของโลก” โดยมีนายสิริพงศ์ อรุณรัตนา ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการธุรกิจสัตว์บก ซีพีเอฟ พร้อมคณะผู้บริหารให้การต้อนรับ

นายสิริพงศ์ อรุณรัตนา เปิดเผยว่า การเข้าเยี่ยมชมครั้งนี้ เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ ท่านดาโต๊ะ เซอรี เซอเตีย ดร. ฮัจยี อับดุล มานัฟ บิน ฮัจยี เมตุซิน (Dato Seri Setia Dr Haji Abdul Manaf bin Haji Metussin) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรพื้นฐานและการท่องเที่ยว ประเทศเนการาบรูไนดารุสซาลาม ที่ต้องการร่วมหารือถึงความเป็นไปได้ในระดับทวิภาคี สำหรับความร่วมมือระหว่างบรูไนฯ และประเทศไทย โดยเฉพาะการเสริมสร้างและรับรองความมั่นคงด้านอาหาร (Food security) ในบรูไนฯ ผ่านการเพิ่มลู่ทางการนำเข้าทั้งสัตว์ปีก กุ้ง และข้าวจากประเทศไทย โดยในครั้งนี้ ท่านเอกอัครราชทูตบรูไนดารุสซาลามประจำประเทศไทย ฯพณฯ เป็งงีรัน ฮัจยี ซาฮารี บิน เป็งงีรัน ฮัจยี ซาและ (Pengiran Haji Sahari bin Pengiran Haji Salleh) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากกรมเกษตรและอาหารเกษตร (Department of Agriculture and Agrifood: DOAA) และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ร่วมคณะด้วย

“รมว.กระทรวงทรัพยากรและการท่องเที่ยวบรูไนฯ ให้ความสนใจและประทับใจอย่างยิ่งในกระบวนการผลิตอาหารคุณภาพปลอดภัยภายใต้มาตรฐานสากลด้วยเทคโนโลยี และ AI ที่นำมาใช้พร้อมกล่าวชื่นชมบริษัทฯ ในฐานะผู้นำด้านเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร และเชื่อว่าการหารือครั้งนี้ จะนำไปสู่ความร่วมมืออันดีในอนาคต” นายสิริพงศ์ กล่าว

การเยี่ยมชมกระบวนการผลิตครั้งนี้ ซีพีเอฟได้บรรยายสรุปเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจของบริษัท พร้อมนำชมการผลิต และแปรรูปเนื้อไก่ ตลอดจนอาหารสำเร็จรูป ภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด ด้วยโมเดลธุรกิจผลิตอาหารครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ “จากฟาร์มสู่โต๊ะอาหารของผู้บริโภค” จึงเป็นข้อดีที่บริษัทสามารถควบคุมและตรวจสอบย้อนกลับคุณภาพและสุขอนามัยความปลอดภัยอาหารของวัตถุดิบตลอดห่วงโซ่การผลิต โดยมุ่งเน้นการเลี้ยงสัตว์ที่ยึดหลักสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) ตามหลักอิสระ 5 ประการ เพื่อให้สัตว์มีสุขภาพดี ภายใต้การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างรับผิดชอบและสมเหตุผล ไปจนถึงกระบวนการแปรรูปด้วยเครื่องจักรและเทคโนโลยีที่ทันสมัย อาทิ เครื่องตัดแยกชิ้นส่วนอัตโนมัติ ขณะเดียวกันยังประยุกต์ใช้การบริหารระดับสากลและระบบมาตรฐานที่ตรงตามความต้องการของลูกค้าที่หลากหลาย ซึ่งครอบคลุมทั้งด้านวิถีชุมชน สิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์พลังงาน รวมไปถึงการตรวจสอบย้อนกลับแบบดิจิทัลสำหรับการผลิตอาหารของซีพีเอฟ (CPF Digital Traceability) และให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการดูแลและปฏิบัติต่อพนักงานทุกคน สอดคล้องตามมาตรฐานแรงงาน

ทรีนีตี้ แนะ 4 ธีมเด่นในพอร์ต มองหุ้นไทยยังแข็งแกร่ง สิ้นปีเก็งดัชนี 1,690 จุด

“ทรีนีตี้” จัดสำรับลงทุนรับมือ“วิกฤตซ้อนวิกฤต” แนะ 4 ธีมเด่นในพอร์ต มองหุ้นไทยยังแข็งแกร่ง ให้เป้าหมายดัชนีสิ้นปี 1,690 จุด อิง EPS ตลาดที่ 106.5 บาท พี/อี 15.9 เท่า ชี้มีโอกาสเห็นนักวิเคราะห์ขยับประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียน

ดร.วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาตลาดทุนทั่วโลกได้รับผลกระทบจากหลายวิกฤต เช่น การแพร่ระบาดของ COVID-19 เงินเฟ้อที่พุ่งแรงทั่วโลก เศรษฐกิจโลกถดถอย ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน และความตึงเครียดระหว่างจีน ไต้หวัน และสหรัฐฯ และขณะนี้ตลาดหุ้นทั่วโลกกำลังพัฒนาจากภาวะ“ความกลัวเงินเฟ้อ (Inflation Fear)” มาสู่ภาวะ “ความกลัวเศรษฐกิจถดถอย (Recession Fear)” จากการปรับลดประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลงของประเทศสหรัฐฯ จีน และกลุ่มประเทศยุโรป

นอกจากนี้ การที่ Fed เริ่มมีนโยบายลดความรุนแรงในการขึ้นดอกเบี้ย (Less Hawkish) นำไปสู่การทำกำไรของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และภายหลังจากการที่ Fed ขึ้นดอกเบี้ย 0.5-0.75% ในเดือนกันยายนนี้ อาจจะทำให้เกิดความกังวลเรื่องเศรษฐกิจถดถอยเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ และความกลัวเศรษฐกิจถดถอยยังมีเม็ดเงินของนักลงทุนต่างประเทศที่เข้าไทยในเดือนสิงหาคม ซึ่งถือเป็น Renewed ของฟันด์โฟลว์หรือฟันด์โฟลว์รอบใหม่ โดยตั้งแต่ต้นเดือนมีนักลงทุนต่างประเทศเริ่มกลับเป็นฝ่ายซื้อสุทธิในตลาดหุ้นกว่า 2.4 หมื่นล้านบาท และตลาดพันธบัตรกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท

ในส่วนของมุมมองด้านเงินเฟ้อ มองว่าเงินเฟ้อทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย อาจจะถึงจุดสูงสุด ในไตรมาส 3 ปีนี้ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ได้ผ่านจุดสูงสุด (Peak) ไปแล้ว และคาดการณ์การขึ้นดอกเบี้ย ของประเทศไทย จะเป็นลักษณะค่อยเป็นค่อยไปที่ระดับ 0.25% ต่อครั้ง คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% ใน 12 เดือนข้างหน้าสู่ระดับ 1.5% ในกลางปี 2566 แต่ก็ยังถือว่าเป็นระดับต่ำสุดในอาเซียน อย่างไรก็ดี ยังมีความเสี่ยงเรื่องเงินพื้นฐาน (Core Inflation) ที่ปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3% ในเดือนกรกฎาคม 2565 และการที่ค่าแรงขั้นต่ำมีโอกาสปรับขึ้นได้ 5-8% ทำให้ Core Inflation มีโอกาสสูงกว่าที่เป้าหมายธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดที่ 1-3%
ในส่วนของมุมมองด้านค่าเงินบาท มองว่านับตั้งแต่สิ้นเดือนกรกฎาคม 2565 ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่ามากที่สุดในสกุลเงินอาเซียน โดยแข็งค่าขึ้นกว่า 4% และคาดว่าค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 34-35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ แม้ว่าอาจจะมีความเสี่ยงของเงินทุนไหลออกจากนักลงทุนต่างประเทศ เนื่องจากการส่งออกเงินปันผลของนักลงทุนต่างประเทศช่วงเดือนกันยายน 2565 ประกอบกับ Fed อาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกอย่างน้อย 0.5%

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยมองการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจะติดลบสูงสุดในไตรมาส 3 ของปี 2565 และจะปรับขึ้นเป็นบวกระดับ 4% ของ GDP ในปี 2566 (เปรียบเทียบ+10% ของ GDP ในช่วงก่อน เกิด COVID) คาดว่ารายได้จากนักท่องเที่ยวในประเทศจะเพิ่มขึ้นเป็น 3% ของ GDP ในไตรมาส 3 และเป็น 5% ของ GDP ในไตรมาส 4 และอาจเพิ่มเป็น 7% ของ GDP ในไตรมาส 1 ปี 2566 ขณะที่การเติบโตของฐานเงินอย่างกว้างหรือ M2 เพิ่มขึ้น 6.20% ในเดือนมิถุนายน 2565 ซึ่งเป็นตัวเลขล่าสุดที่เป็นการเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 1 ปี บ่งบอกถึงสภาพคล่องเริ่มดีขึ้น

ในส่วนของตลาดหุ้นไทย มองเป้าหมายของดัชนีอยู่ที่ 1,690 จุด อิงอัตรากำไรต่อหุ้น (EPS) ของตลาด ที่ 106.5 บาท และ Forward PE (X) ที่ 15.9X และมีโอกาสที่จะปรับเป้าหมายดัชนีขึ้น เพราะ EPS มีโมเมนตัมเป็นบวกจากการปรับเพิ่มของกำไรต่อหุ้นของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) อีกทั้ง นับตั้งแต่ต้นปี 2565 จนถึงปัจจุบัน สินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกให้ผลตอบแทนติดลบตั้งแต่ -1.8% ถึง -50% แต่ตลาดหุ้นไทยยัง Outperform ตลาดหุ้นโลก
ดร.วิศิษฐ์ กล่าวว่า แนะนำให้นักลงทุนจัดสรรเงินลงทุนในสถานการณ์วิกฤตซ้อนวิกฤต (Asset Allocation) ในช่วงที่เหลือของปี 2565 โดยสินทรัพย์ที่แนะนำลงทุน ได้แก่ ตลาดหุ้นไทย 25% ตลาดหุ้นเวียดนาม 10-15% ตลาดหุ้นในประเทศที่พัฒนาแล้ว 10% ตราสารหนี้โลก 25% ทองคำ 5% Weighting ในกลุ่มน้ำมัน และ Commodity 5% และถือเงินสด 15-20% เนื่องจากสินทรัพย์เสี่ยงยังไม่ได้สะท้อนถึงความเสี่ยงที่ยังไม่คาดการณ์

ทรีนีตี้ยังแนะนำให้ Overweight หรือให้น้ำหนักมากกว่าตลาด ในกลุ่มหุ้นที่เป็น “Thematic Play” ที่ได้สร้างแบบจำลองทาง Macro Economic 4 ธีมหลัก ได้แก่
ธีมที่ 1 : บริษัทที่ได้ประโยชน์จากการเปิดเมือง (reopening) และการท่องเที่ยว มองว่าประเทศจีนมีแนวโน้มที่จะผ่อนคลายให้นักท่องเที่ยวเริ่มเดินทางออกนอกประเทศได้ใน 3-12 เดือนข้างหน้า
ธีมที่ 2 : บริษัทที่ได้ประโยชน์จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ กลุ่มโรงไฟฟ้า
ธีมที่ 3 : หุ้นปันผลสูงเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ (Inflation hedge )
ธีมที่ 4 : บริษัทได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น ได้แก่ กลุ่มธนาคาร แต่การส่งผ่านการขึ้นดอกเบี้ยไปเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ในรอบเศรษฐกิจนี้จะมีประสิทธิภาพน้อยลง

ตลท. เปิดรับฟังความคิดเห็น “การปรับปรุงเกณฑ์ซื้อขายหลักทรัพย์เพื่อรองรับระบบการซื้อขายใหม่” ถึง 16 ก.ย. 65

รายงานข่าว เปิดเผยว่า ตามที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอยู่ระหว่างปรับปรุงระบบการซื้อขายหลักทรัพย์โดยใช้เทคโนโลยีชั้นนำระดับโลกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ โดยคาดว่าจะเริ่มใช้ระบบการซื้อขายหลักทรัพย์ใหม่ในไตรมาส 1 ปี 2566 นั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงได้ใช้โอกาสนี้ทำการทบทวนและปรับปรุงกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน รวมทั้งเพื่อช่วยเพิ่มความสะดวกให้ผู้ลงทุนและทำให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติที่เป็นสากลมากขึ้น โดยสามารถสรุปเรื่องที่มีการปรับปรุงได้ดังนี้

  1. ปรับเกณฑ์การกำหนดราคาเปิดและราคาปิด (“Equilibrium Price”) ให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติของตลาดหลักทรัพย์ในต่างประเทศ โดยกำหนดให้ราคาเปิดและราคาปิดอาจอยู่นอกช่วงราคาสูงสุด (Ceiling) และราคาต่ำสุด (Floor) ±1 ช่วงราคา จากเดิมกำหนดให้อยู่ในช่วงที่ไม่เกิน Ceiling & Floor
  2. ปรับเกณฑ์ Ceiling & Floor ของหลักทรัพย์ที่บุคคลต่างด้าวเป็นผู้ถือ (หลักทรัพย์ -F) สำหรับการซื้อขายด้วยวิธีบันทึกการซื้อขาย (Trade Report) ให้มีค่า Parameter เดียวคือ ±60% ของราคาอ้างอิง เพื่อให้ค่า Ceiling & Floor เท่าเทียมกันในทุกวิธีการซื้อขาย จากเดิมที่การซื้อขายด้วยวิธี Trade Report ที่มีขนาดใหญ่ (คือจำนวนหลักทรัพย์ตั้งแต่ 1 ล้านหน่วยขึ้นไปหรือมูลค่าการซื้อขายตั้งแต่ 3 ล้านบาทขึ้นไป) จะมีค่า Ceiling & Floor ที่ ±30% ของราคาอ้างอิง
  3. ยกเลิกการซื้อขายหน่วยย่อยของใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (Derivatives Warrant: DW) เพื่อช่วยลดภาระและต้นทุนการดำเนินการของบริษัทสมาชิก เนื่องจากปัจจุบันมูลค่าการซื้อขาย DW ที่เป็นหน่วยย่อย (หรือที่เรียกว่า “Odd Lot” ซึ่งเป็นการซื้อขายหลักทรัพย์ในจำนวนที่ต่ำกว่า 100 หน่วย) มีจำนวนน้อย
  4. ปรับปรุงประเภทของคำสั่งซื้อขาย ได้แก่ การยกเลิกคำสั่งซื้อขายประเภท Special Market Order, การเพิ่มประเภทคำสั่งที่มีอายุข้ามวัน (Long Order), การปรับปรุงคำสั่งซื้อขายประเภท Iceberg Order และการปรับปรุงการผสมผสานของคำสั่งซื้อขายและอายุคำสั่งซื้อขาย
  5. กำหนดให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถยกเลิกคำสั่งซื้อขายได้ในกรณีเกิดเหตุระบบขัดข้อง เมื่อเกิดกรณีฉุกเฉินหรือเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดกับการซื้อขายโดยรวม ซึ่งเป็นไปตามแนวทางเดียวกับตลาดหลักทรัพย์ในต่างประเทศ

ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาปรับปรุงกฎเกณฑ์ดังกล่าว พร้อมทั้งได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นพร้อมรายละเอียดบนเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ https://www.set.or.th/th/rules-regulations/market-consultation หัวข้อ “การปรับปรุงเกณฑ์ซื้อขายเพื่อรองรับระบบการซื้อขายใหม่” โดยผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจสามารถส่งความคิดเห็นมาทาง SecuritiesTradingDepartment@set.or.th จนถึง 16 กันยายน 2565

ทิพยประกันภัย ส่งทีมลงพื้นที่จ.เชียงรายเร่งด่วน ช่วยเหลือผู้เดือดร้อนจากพายุมู่หลาน

รายงานข่าว เปิดเผยว่า ดร.สมพร สืบถวิลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้ง ส์ และ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทิพยประกันภัย ห่วงใยผู้ประสบภัยที่ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วมหนัก ที่อำเภอแม่สายจังหวัดเชียงราย โดยส่งทีม TIP Smart Assist นำทีมโดย คุณโกสนธ์ พิศภา ผู้อำนวยการฝ่ายสินไหมรถยนต์ ลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือนร้อนในเบื้องต้นหลังจากที่ระดับน้ำลดและสามารถเข้าพื้นที่ได้แล้ว โดยเข้าไปช่วยฟื้นฟูทำความสะอาด สถานที่อยู่อาศัย ร้านค้า ถนน และมอบน้ำดื่มให้กับผู้ได้รับผลกระทบ

สำหรับทีมสินไหมทดแทนได้ลงพื้นที่เชิงรุกเข้าสำรวจความเสียหายของลูกค้า ทั้งที่อยู่อาศัยและรถยนต์ทันที เพื่อดำเนินการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับลูกค้า ให้สามารถมีทุนในการกลับมาดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องอีกครั้ง

ซีพีเอฟ ปลื้ม ผลดำเนินงานไตรมาส 2/65 ยอดขายพุ่งนิวไฮ 20% จ่ายปันผลระหว่างกาล 0.40 บาทต่อหุ้น

รายงานข่าว เปิดเผยว่า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ รายงานยอดขายประจำไตรมาส 2 ปี 2565 นี้จำนวน 155,996 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ด้วยกำไรสุทธิจำนวน 4,208 ล้านบาท

กิจการประเทศไทยมีรายได้จากการขายจำนวน 50,980 ล้านบาท (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 33 ของรายได้จากการขายรวม) เพิ่มขึ้นร้อยละ 17 และในส่วนของกิจการต่างประเทศ มีรายได้จากการขายจำนวน 105,016 ล้านบาท (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 67 ของรายได้จากการขายรวม) เพิ่มขึ้นร้อยละ 22 โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้น และความต้องการบริโภคดีขึ้นจากการผ่อนคลายของมาตรการการป้องกันโควิดในประเทศต่าง ๆ

กำไรขั้นต้นในไตรมาสที่ 2 ปี 2565 อยู่ที่ 22,624 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 จากในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนลดลง 1,546 ล้านบาทจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยหลักมาจากผลการดำเนินงานของบริษัทร่วมในประเทศจีนที่ได้รับผลกระทบจากราคาสุกรที่อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าระยะเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ประกอบกับต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับสูงขึ้น จึงเป็นผลให้กำไรสุทธิสำหรับไตรมาสที่ 2 ปี 2565 อยู่ที่ 4,208 ล้านบาท ลดลง ร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ กล่าวว่า ผลจากมาตรการด้านโควิดที่ผ่อนคลายลงในหลายประเทศ และระดับราคาสุกรในประเทศจีนได้ปรับตัวสูงขึ้นจากไตรมาส 2 ที่ผ่านมา รวมถึงผลจากการให้ความสำคัญด้านประสิทธิภาพการดำเนินงานเพื่อให้มีต้นทุนที่สามารถแข่งขันได้มาโดยตลอด บริษัทฯ จึงคาดว่าผลการดำเนินงานในครึ่งหลังของปีนี้มีแนวโน้มการเติบโตที่โดดเด่นต่อเนื่องจากไตรมาส 2 ที่ผ่านมา และมองว่าผลจากการให้ความสำคัญด้านประสิทธิภาพการดำเนินงานและการปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจจะส่งผลให้ผลการดำเนินงานในปีต่อ ๆ ไปสามารถเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่อง

ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2565 ได้มีมติจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจากผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนปีนี้ ในอัตราหุ้นละ 0.40 บาท โดยจะกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิได้รับเงินปันผลในวันที่ 31 สิงหาคม 2565 (ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะขึ้นเครื่องหมาย XD ในวันที่ 30 สิงหาคม 2565) และจะทำการจ่ายเงินปันผลในวันที่ 14 กันยายน 2565

AIS จับมือ ท่าอากาศยานฯ อู่ตะเภา พัฒนา Smart Terminal นำร่องเขตพื้นที่ EEC

รายงานข่าว เปิดเผยว่า ท่าอากาศยานนานาชาติ อู่ตะเภา ระยอง-พัทยา และ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ร่วมลงนาม MOU ความร่วมมือต่อเนื่องในการนำดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาและเสริมขีดความสามารถของท่าอากาศยานอู่ตะเภา เพื่อยกระดับสู่ Smart Terminal อย่างเต็มรูปแบบ ตอบสนองกับนโยบายของภาครัฐ ในการเป็นประตูหน้าด่านในการเปิดประเทศ ส่งเสริมทั้งอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ขนส่ง คมนาคม ให้แข็งแกร่ง โดยได้รับเกียรติจาก พลเรือเอกวรพล ทองปรีชา ผู้อำนวยการ การท่าอากาศยานอู่ตะเภา และคุณศรัณย์ ผโลประการ หัวหน้าฝ่ายงานผลิตภัณฑ์โทรศัพท์เคลื่อนที่ กลุ่มลูกค้าทั่วไป เอไอเอส ร่วมลงนาม

ความร่วมมือครั้งนี้ จะช่วยเสริมการพัฒนาให้เป็นท่าอากาศยานนานาชาติเชิงพาณิชย์ที่ทันสมัย ในช่วงก่อนการสร้างและเปิดใช้อาคาร 3 ให้เป็นสนามบินเชิงพาณิชย์ลำดับแห่งที่ 3 ของกรุงเทพมหานครในอนาคต ที่จะเชื่อมโยงการขนส่งผู้โดยสารและสินค้ากับสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ ตามแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor (EEC) หนึ่งในแผนยุทธศาสตร์สำคัญภายใต้นโยบาย Thailand 4.0

พลเรือเอก วรพล กล่าวว่า “การท่าฯ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งในการร่วมมือกับภาคเอกชนในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลที่สร้างสรรค์ด้วยคนไทย เข้ามายกระดับการให้บริการและการบริหาร ท่ากาศยานอู่ตะเภาให้ทันสมัย เป็นอาคารผู้โดยสารอัจฉริยะ หรือ Smart Terminal อันสอดคล้องตามแนวนโยบายดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม (Digital Economy) ของรัฐบาล ตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล เพื่อช่วยต่อยอดท่าอากาศยานอู่ตะเภาให้เป็นสนามบินพาณิชย์แห่งที่ 3 ของกรุงเทพมหานคร ที่เป็นส่วนหนึ่งของแผนงานเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เชื่อมโยงการขนส่งผู้โดยสารกับสนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อเป็น Aviation Hub ในภูมิภาคนี้”

“ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ความร่วมมือระหว่าง การท่าอากาศยานอู่ตะเภาฯ และ เอไอเอส เป็นไปอย่างดียิ่ง ในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลที่สร้างสรรค์ด้วยขีดความสามารถของคนไทยเข้ามายกระดับการให้บริการ เพื่ออำนวยความสะดวกและมอบประสบการณ์ที่เป็นเลิศให้แก่ผู้ใช้บริการท่าอากาศยาน รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถด้านการรักษาความปลอดภัยและประสิทธิภาพการบริหารอาคาร ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญที่สุด ดังนั้นแม้ว่าจะประสบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในช่วงที่ผ่านมา เกิดการชะลอตัวของการเดินทางทางอากาศ แต่การทำงานร่วมกันในช่วงที่ผ่านมาก็ไม่เคยหยุด อันถือว่าเป็นการช่วยทำให้เราได้มีโอกาสเตรียมความพร้อมได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นในโอกาสของการลงนาม MOU เพื่อทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องในครั้งนี้ เท่ากับเป็นการสานต่อเจตนารมณ์ของทั้ง 2 หน่วยงานเข้าด้วยกันในการสร้างความมั่นคง แข็งแกร่งของอุตสาหกรรมการบิน ที่ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักในการเปิดประตูเศรษฐกิจของประเทศ และเมื่อผนวกรวมเข้ากับโครงสร้างพื้นฐานหลักด้านดิจิทัลจากเอไอเอสแล้ว ก็เชื่อมั่นได้ว่า จะเป็นการทำให้พื้นที่แห่งนี้มีศักยภาพที่เต็มเปี่ยมในการรองรับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในภาคตะวันออกตามแผนงานของประเทศได้อย่างแน่นอน”

ด้าน นายศรัณย์ กล่าวว่า ในฐานะผู้ให้บริการดิจิทัล – Digital Life Service Provider นอกเหนือจากมอบบริการด้านสื่อสารที่ดีที่สุดแก่คนไทยแล้ว สิ่งที่เราให้ความสำคัญคือ การพัฒนาประยุกต์ใช้เทคโนโลยีด้านดิจิทัลอย่างเต็มศักยภาพเพื่อสนับสนุนความแข็งแกร่งของประเทศในทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่เป็นก้าวสำคัญในการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจประเทศครั้งใหญ่ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้อย่างยั่งยืน ซึ่งเอไอเอส ภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้รับความไว้วางใจจากการท่าอากาศยานอู่ตะเภาฯ ที่ให้โอกาสเราเข้ามามีส่วนร่วมในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเพื่อยกระดับการให้บริการ และการบริหารจัดการ อาคารผู้โดยสาร ของท่าอากาศยานอู่ตะเภาอย่างต่อเนื่องอีกครั้ง

“Smart Airport Terminal เป็นรูปแบบของการร่วมกันศึกษาและทดลองใช้เทคโนโลยี 5G และ หุ่นยนต์ AI เพื่อยกระดับการให้บริการท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ให้เป็นอาคารผู้โดยสารอัจฉริยะ รวมไปถึงการพัฒนาระบบรักษาความปลอดภัยอัจฉริยะ ตลอดจน Application ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวและบุคลากรของการท่าอากาศยาน เพื่อให้สถานที่แห่งนี้พร้อมก้าวสู่ Smart Airport Terminal จากนวัตกรรมดิจิทัลที่ทันสมัยล่าสุดให้กับภาคธุรกิจการบินของไทยต่อไป”

สิงห์ ตบโบนัส 1.8 ล้าน ให้นักกีฬาพาราไทยและเจ้าหน้าที่ สร้างผลงานศึกอาเซียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 11

รายงานข่าว เปิดเผยว่า สิงห์ คอร์เปอเรชั่น ได้มอบโบนัสพิเศษ ให้ทัพนักกีฬาพาราไทย รวมถึงเจ้าหน้าที่ทุกคน ที่มีส่วนในการสร้างผลงานคว้ามาได้ 116 เหรียญทอง 113 เหรียญเงิน และ 90 เหรียญทองแดง ในอาเซียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 11 ที่เมืองโซโล ประเทศอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 30 กรกฎาคม – 6 สิงหาคมที่ผ่านมา ปิดฉากอันดับที่ 2 เป็นรอง “เจ้าภาพ” อินโดนีเซีย พร้อมกับมอบเงินพิเศษอีก 10,000 บาท สำหรับผู้ที่ทำลายสถิติของตัวเอง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,835,500 บาท

นายอานันต์ เผือกพิบูลย์ ผู้ช่วยผู้จัดการสำนักงานส่งเสริมกีฬา สิงห์ คอร์เปอเรชั่น เปิดเผยว่า “การมอบโบนัสพิเศษครั้งนี้ เพื่อเป็นการแสดงความขอบคุณนักกีฬาพาราไทยทุกท่าน ตลอดจนสต๊าฟโค้ชและเจ้าหน้าที่ทุกคน ซึ่งทั้งหมดมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาวงการกีฬาคนพิการไทย ทั้งนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จได้รับเหรียญรางวัล รวมถึงนักกีฬาที่ไม่ได้รับเหรียญรางวัล สต๊าฟโค้ชที่อยู่กับนักกีฬาตลอด รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่คอยอำนวยความสะดวก ทุกคนต่างทุ่มเทแรงใจและเสียสละเวลาในการทำให้งานนี้ประสบความสำเร็จ”

สำหรับโบนัสพิเศษที่ สิงห์ มอบให้ในครั้งนี้ ประกอบด้วย นักกีฬา ผู้ฝึกสอน และเจ้าหน้าที่ ทั้งหมด 473 คน ที่เดินทางไปร่วมในการแข่งขัน อาเซียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 11 เมืองโซโล ประเทศอินโดนีเซีย และมอบเงินพิเศษเพิ่มให้อีกคนละ 10,000 บาท สำหรับนักกีฬาที่สามารถทำลายสถิติของตัวเองได้สำเร็จ รวม 18 รายการ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,835,500 บาท

สำหรับรายชื่อนักกีฬาทำลายสถิติที่ของตัวเอง ที่ได้รับรางวัล 10,000 บาท มีดังนี้

  1. พงศกร แปยอ วีลแชร์เรซซิ่ง 400 เมตร คลาส T 53 ทำสถิติ 50.42 วินาที
  2. พงศกร แปยอ วีลแชร์เรซซิ่ง 800 เมตร คลาส T 53 ทำสถิติ 1.45.38 นาที
  3. อธิวัฒน์ แพงเหนือ วีลแชร์เรซซิ่ง 100 เมตร คลาส T 54 ทำสถิติ 14.30 วินาที
  4. อธิวัฒน์ แพงเหนือ วีลแชร์เรซซิ่ง 800 เมตร คลาส T 54 ทำสถิติ 1.41.74 นาที
  5. เตชินี ดวงอินทร์ วีลแชร์เรซซิ่ง 100 เมตรหญิง คลาส T 54 ทำสถิติ 18.06 วินาที
  6. ประวัติ วะโฮรัมย์ วีลแชร์เรซซิ่ง 1,500 เมตร คลาส T 54 ทำสถิติ 3.22.04 นาที
  7. พิพัฒน์พงศ์ เสียงล้ำ, สายชล คนเจน, พงศกร แปยอ, ประวัติ วะโฮรัมย์ วีลแชร์เรซซิ่ง ผลัด 4×400 เมตร คลาส T54 ทำสถิติ 3.29.80 นาที
  8. มลฤดี เก่งพิลา ว่ายน้ำ ฟรีสไตล์ 100 เมตรหญิง คลาส S10 ทำสถิติ 1.12.53 นาที
  9. มลฤดี เก่งพิลา ว่ายน้ำ ฟรีสไตล์ 50 เมตรหญิง คลาส S10 ทำสถิติ 31.79 วินาที
  10. ชาคร แก้วศรี ว่ายน้ำ กรรเชียง 50 เมตรชาย คลาส S 3 ทำสถิติ 1.01.20 นาที
  11. อัญชญา เกตุแก้ว ว่ายน้ำ ฟรีสไตล์ 50 เมตรหญิง คลาส S 9 ทำสถิติ 30.56 วินาที
  12. สุรีรัตน์ คำแก้ว ว่ายน้ำ ฟรีสไตล์ 400 เมตรหญิง คลาส S 9 ทำสถิติ 5.53.81 นาที
  13. ฃภูชิต อิงชัยภูมิ ว่ายน้ำ ฟรีสไตล์ 200 เมตรชาย คลาส S 5 ทำสถิติ 2.57.89 นาที
  14. มลฤดี เก่งพิลา, อัญชญา เกตุแก้ว, สุรีรัตน์ คำแก้ว, วิลาสินี วงศ์นนทภูมิ ว่ายน้ำ ผลัดผสม 4×100 เมตรหญิง ทำสถิติ 5.55.77 นาที
  15. มลฤดี เก่งพิลา, อัญชญา เกตุแก้ว, สุรีรัตน์ คำแก้ว, วิลาสินี วงศ์นนทภูมิ ว่ายน้ำ ผลัดฟรีสไตล์ 4×100 เมตรหญิง ทำสถิติ 5.27.85 นาที
  16. ณัฐรินี ขจรเมธา ว่ายน้ำ ฟรีสไตล์ 50 เมตรหญิง ทำสถิติ 28.58 วินาที
  17. ณัฐรินี ขจรเมธา ว่ายน้ำ ฟรีสไตล์ 100 เมตรหญิง ทำสถิติ 1.02.33 นาที
  18. ณัฐรินี ขจรเมธา ว่ายน้ำ ฟรีสไตล์ 200 เมตรหญิง ทำสถิติ 2.16.32 นาที

ทั้งนี้ สิงห์ เป็นผู้สนับสนุนวงการกีฬาคนพิการไทย มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา โดยเป็นผู้สนับสนุนหลักของ คณะกรรมการพาราลิมปิกแห่งประเทศไทย และ 5 สมาคมกีฬาคนพิการ ที่สร้างนักกีฬาพาราไทยมากมาย ได้แก่ สมาคมกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทยฯ, สมาคมกีฬาคนพิการทางปัญญาแห่งประเทศไทย, สมาคมกีฬาคนพิการทางสมองแห่งประเทศไทย, สมาคมกีฬาคนหูหนวกแห่งประเทศไทย และสมาคมกีฬาคนตาบอดแห่งประเทศไทย

สิงห์อาสา ลงพื้นที่แม่สาย เร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 14 ส.ค. 2565 ที่ผ่านมา สิงห์อาสา โดย มูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี และ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ร่วมกับเครือข่ายสิงห์อาสา ได้แก่ มูลนิธิสยามเชียงราย และวิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงราย ลงพื้นที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย นำน้ำดื่มจำนวน 600 แพ็ค และอาหารพร้อมทาน (ข้าวรีทอร์ท) จำนวน 400 กล่อง เข้าบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนในพื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วมในเบื้องต้น พร้อมช่วยขนย้ายสิ่งของ โดยมี 5 หมู่บ้านที่มีฝนตกหนักจนเกิดน้ำท่วมหนักจากอิทธิพลพายุมู่หลาน คือ ชุมชนถ้ำผาจม, ชุมชนสายลมจอย, ตลาดสายลมจอย, ชุมชนเกาะทราย, ชุมชนเกาะสวรรค์ ทำให้บ้านเรือนกว่า 2,000 หลังคาเรือนได้รับความเสียหาย รวมถึงพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย

ทั้งนี้ สิงห์อาสา พร้อมด้วยเครือข่ายฯ จะติดตามสถานการณ์น้ำท่วมอย่างใกล้ชิด เพื่อเร่งลงพื้นที่บรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้านในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากมรสุมพาดผ่านในครั้งนี้ เพื่อส่งมอบกำลังใจ พร้อมนำน้ำดื่มและอาหารพร้อมทานเข้าไปช่วยเหลือประชาชนโดยเร็วที่สุด