เยี่ยมชมวิถีมอญ ถิ่นสามโคก ปทุมธานี

เกรียนพาเที่ยว มีโอกาสติดสอยห้อยตามทริปของเครือข่ายการท่องเที่ยวภาคประชาสังคม ที่จัดกิจกรรมวิถีถิ่นสัญจร เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์วัฒนธรรมมอญ สัมผัสวิถีถิ่นสามโคก ชื่อเดิมของจังหวัดปทุมธานี

ถือเป็นชุมชนมอญ ที่ยังคงรักษาความเข้มแข็งด้านวิถีชีวิต การแต่งกาย ภาษา อยู่อย่างมาก สำหรับชุมชนมอญที่สามโคก โดยสถานที่แรกที่เราเดินทางไป คือ

วัดศาลาแดงเหนือ มีโอกาสได้ชมความงดงามของเจดีย์ศิลปะมอญ และศาลาการเปรียญที่อดีตเคยใช้เป็นโรงโขนหลวง นอกจากนี้ ภายในพื้นที่วัด ยังมีส่วนจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ที่แสดงเครื่องใช้ข้าวของในอดีต รวมทั้งเรือโอ่งที่เคยล่องไปตามลำแม่น้ำทั่วสารทิศเพื่อทำมาค้าขาย

จากนั้น เราได้เดินสำรวจดูชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านชาวมอญ ซึ่งจากเดิมเกือบทุกบ้านที่จะมีการทำกระยาสารทขาย แต่ปัจจุบัน หลงเหลือบ้านที่ยังทำขายอยู่ไม่กี่หลัง แน่นอนว่า คณะที่เดินทางมาช่วยกันอุดหนุนขนม กลับบ้านติดไม้ติดมือกันไปคนละถุงสองถุง นอกจากกระยาสารทแล้ว หมี่กรอบของที่นี่ ก็รสชาติอร่อยดีทีเดียว

สถานที่ต่อไป คือ วัดสองพี่น้อง เป็นอีกวัดเก่าแก่ของเมืองปทุมฯ ได้มีโอกาสไหว้สักการะหลวงพ่อเพชร หลวงพ่อพลอย ตามประวัติแล้ว สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2410 และพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ 2 องค์คือ หลวงพ่อเพชร เป็นพระพุทธรูปศิลา ศิลปะอู่ทองปางมารวิชัย และหลวงพ่อพลอยเป็นพระพุทธรูปศิลปะอู่ทองจำหลักด้วยศิลาแต่ถูกขโมยไป ทางวัดได้จัดสร้างขึ้นมาใหม่เป็นที่เคารพนับถือของชาวเรือและประชาชนทั่วไป

เดินชมความงามของวัดแล้ว ใกล้ถึงเวลาเที่ยง เราเดินทางต่อไปทานอาหารมื้อกลางวันกันที่ตลาดโก้งโค้ง อ.บางปะอิน อยุธยา ซึ่งมีอาหารให้เลือกกินมากมาย โดยเฉพาะขนมไทย อร่อยมาก แอดมินเห็นขนมถ้วย อดไม่ได้ที่จะแคะทาน ราคาถาดละ 20 บาท ถาดนึงมี 5 ถ้วยให้แคะทาน

เมื่อเติมพลังแล้ว ก็ถึงเวลาเดินทางต่อไปสถานที่ต่อไป คือ ศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด ซึ่งมีส่วนของอาคารเรียนรู้เรื่องโขน รวบรวมทั้งฉาก ชุดแต่งกาย อุปกรณ์การแสดงที่เคยใช้ในการแสดงโขนพระราชทานตอนต่างๆ รวบรวมมาไว้ที่อาคารแห่งนี้ ไฮไลท์คือ ฉากหนุมานแปลงกายเป็นลิงยักษ์ตัวมหึมาขนาด 15 เมตร แถมยังขยับเขยื้อนได้ และฉากหนุมาอ้าปากอมพลับพลา ในตอนศึกไมยราพ ซึ่งสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้เข้าชมอย่างมาก นอกจากนี้ ยังมีฉากต่างๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ท้องพระโรงกรุงลงกา ร่างนางผีเสื้อสมุทรขนาดใหญ่ จากการแสดงโขนพระราชทานตอนล่าสุด สืบมรรคา

อาคารเรียนรู้เรื่องโขน เป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน จ.พระนครศรีอยุธยา เปิดทำการวันอังคาร-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา ๑๐.๐๐–๑๕.๓๐ น. (เปิดจำหน่ายบัตร ๐๙.๔๕ – ๑๕.๐๐ น.) หยุดทุกวันจันทร์

เมื่อชื่นชมกับความงามของศิลปะการแสดงโขน อันเป็นมรดกล้ำค่าของชาติเราแล้ว เราออกเดินทางต่อไปที่วัดโบสถ์ ที่อุโบสถประดิษฐาน “หลวงพ่อเหลือ” พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองปทุมฯ นอกจากนี้ ในวัดยังมีหลวงพ่อโต องค์ใหญ่ที่สุดในประเทศ กับหลวงพ่อโสธร องค์ใหญ่มาก ตั้งอยู่ภายในวัด ให้คนที่ศรัทธาได้กราบไหว้

วัดโบสถ์ ถือว่าเป็นวัดที่มีพื้นที่กว้างขวางทีเดียว ด้านที่ติดริมแม่น้ำ มีวังมัจฉาที่แอดมิน คิดว่า เป็นวังมัจฉาที่มีขนาดใหญ่มากกว่าที่อื่นที่เคยไปมาก่อน แถมปลาเยอะมาก เสียงปลาตีน้ำตอนคนที่มาเที่ยวโยนอาหารปลาให้กิน ดังฟังชัดมากมาแต่ไกล

จากท่าเรือที่วัดโบสถ์ เราได้ขึ้นเรือกระแชง เพื่อล่องไปตามคุ้งน้ำ ชมความงามของวิถีริมแม่น้ำเจ้าพระยาของสามโคก และวัดโบราณที่ตั้งอยู่เรียงรายตามริมน้ำ เพื่อเดินทางมายังจุดหมายปลายทางที่สุดท้ายของทริป คือ วัดสิงห์

วัดสิงห์ เป็นวัดโบราณ ในบันทึกพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาเป็นวัดคู่เมืองสามโคก บริเวณนี้มีการอพยพเข้าออกมาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนของชาวมอญมาหลายยุคสมัย ตามการสันนิษฐานวัดแห่งนี้น่าจะสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถหรือในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ช่วงปี พ.ศ.2202-2210

มีเจดีย์ โบสถ์ วิหารเก่าแก่ ทรงคุณค่าทางโบราณคดี ให้ได้เยี่ยมชมกัน พระพุทธรูปสำคัญของวัดคือหลวงพ่อโต พระพุทธรูปลงรักปิดทองปางมารวิชัย สมัยกรุงศรีอยุธยา

นอกจากนี้ บริเวณด้านหน้าของวัด ยังมี โบราณสถานเตาโอ่งอ่าง ซึ่งถือเป็นหลักฐานการตั้งของชุมชนมอญที่นี่ ตั้งแต่สมัยปลายอยุธยา มีเตาเผาสามโคกตั้งเรียงราย ตุ่มสามโคก หม้อ ไห โอ่ง อ่าง มีลักษณะเด่นเป็นภาชนะบรรจุที่ขนาดใหญ่ เนื้อแกร่ง หนา สีแดง ไม่เคลือบผิว ซึ่งผลิตจากเตาแหล่งนี้ เตาสามโคกมีบทบาทหลังจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ ในปี ๒๓๑๐ ต่อเนื่องมาถึงกรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ ชาวมอญเมืองสามโคกได้เลิกการผลิตไป โดยส่วนใหญ่ย้ายการผลิตไปที่ เกาะเกร็ด เมืองนนทบุรีแทน เหลือเพียงโรงงานปั้นตุ่มสามโคกของนายคำนวณ เป็นคำ ที่ยังอยู่ที่สามโคก

ถือว่าเป็นอีกแหล่งท่องเที่ยวหาความรู้ทางประวัติศาสตร์โบราณคดีของเมืองสามโคกที่น่าเยี่ยมชมและน่าศึกษาอย่างยิ่งทีเดียว

แอดมินใช้เวลาอยู่ที่ปทุมฯ ตั้งแต่เช้าจนถึงเย็น เรียกได้ว่า รู้สึกประทับใจ และคุ้มค่ากับการเดินทางท่องเที่ยวครั้งนี้อย่างมาก งานนี้ต้องขอขอบคุณ เครือข่ายการท่องเที่ยวภาคประชาสังคม ตลอดจนปราชญท้องถิ่นที่คอยให้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของสถานที่ต่างๆ ที่เดินทางไป แน่นอนว่า ต้องหาโอกาส มาเที่ยวที่นี่อีกครั้ง เพราะยังมีอีกหลายที่ที่น่าสนใจ โดยเฉพาะวัดเก่า วัดโบราณ แถบปทุมฯ มีเยอะมาก และการเดินทางมาเที่ยวแถบนี้ก็สะดวก ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ