หมูเถื่อน “เผือกร้อน” จุดชนวนตรวจสอบหน่วยงานภาครัฐ

บทความโดย จุฑา ยุทธหงสา ที่ปรึกษาอิสระด้านปศุสัตว์

“หมูเถื่อน” เป็นน้ำผึ้งหยดเดียวที่จุดชนวนเจ้าหน้าที่ภาครัฐในกรมต่างๆ ต้องรีบออกมา “ฟอกขาว” ตัวเอง ที่ถูกพาดพิงขณะนี้ ทั้งกรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ และอาจจะลามไปถึงการท่าเรือแห่งประเทศไทย หลังพบหลักฐานสำคัญตู้คอนเทนเนอร์แบบเก็บความเย็นตกค้างที่ท่าเรือแหลมฉบัง 161 ตู้ บรรจุหมูเถื่อน 4,500 ตัน ซึ่งเป็นล็อตใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยตรวจพบในประเทศไทย ทั้งที่ผู้คุ้มกฎการผ่านเข้า-ออกสินค้ามาในราชอาณาจักร และผู้คุ้มกฎตู้สินค้าบริเวณหน้าท่าเรือทั้งหมด ควรจะเป็นหน่วยงานที่ได้ “กลิ่นไม่ดี” เป็นด่านแรก แต่ก็ผิดหวัง

นอกจากนี้ งานปราบปรามที่ทำกัน “พอเป็นพิธี” ในช่วงปี 2565 ที่ผ่านมา ประจักษ์พยานจากผลงานระหว่างเดือนมกราคม-สิงหาคม 2565 จับหมูเถื่อนได้เพียง 115 ตัน ทั้งที่ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติให้เบาะแสกับทางราชการตั้งแต่ช่วงต้นปี 2565 ว่ามีหมูเถื่อนรอการระบายอยู่อีกไม่น้อยกว่า 1,000 ตู้ ที่ท่าเรือแหลมฉบัง แต่การปราบปรามก็ยังเฉื่อยๆ เหมือนโดนมอมยา จนสมาคมฯ ประกาศจะไม่ทนอีกต่อไป รวมพลังผู้เลี้ยงหมูทั่วประเทศร้องเรียนภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งกรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ รวมถึงยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เป็นการเดินหน้าทุกวิถีทาง ล่าสุดเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ผู้เลี้ยงหมูมากกว่า 2,000 คน รวมตัวกันอีกครั้งยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้ปราบ “หมูเถื่อน” และขบวนการทุจริตอย่างจริงจัง ถึงวันนี้แม้จะจับไม่ได้ตามเบาะแสที่แจ้ง แต่ 161 ตู้ที่พบ คือจุดเปลี่ยนสำคัญของคดีนี้

โชคดีที่หลายฝ่ายเห็นความสำคัญไม่ทิ้งให้ผู้เลี้ยงหมูเดียวดาย ทั้งนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงษ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) สองครั้งสามครา ให้รับคดีหมูเถื่อนมาดำเนินการ พร้อมมอบหลักฐานสำคัญว่าหมูเถื่อนยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในประเทศไทยจำนวนมาก เพราะหากปล่อยไว้นาน เครือข่ายมิจฉาชีพจะทำความเสียหายให้กับประเทศมากกว่า 50,000 ล้านบาท ตามที่ประเมินกันไว้ขณะนี้

หลังจากนั้น กระแสการปราบปรามหมูเถื่อนไม่มีแผ่วอีกต่อไปหลังนายอัจฉริยะ “จุดไฟ” ตามด้วยพรรคการเมืองต่างๆ กระโจนเข้ามาโหนกระแส ยกระดับเป็นปัญหาที่ต้องดำเนินการเร่งด่วน จะด้วยเหตุผลทางการเมืองเพราะเป็นช่วงเลือกตั้ง หรือด้วยเหตุผลใดก็ตาม ทั้งพรรคก้าวไกล และล่าสุดพรรคเพื่อไทย ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่เกษตรกรเข้าเรียกร้องให้ช่วยจัดการแก้ปัญหา เพราะหวังว่าพรรคที่ได้เป็นผู้นำรัฐบาลจะไม่ลืมคำมั่นสัญญานี้

เมื่อโดนแรงกดดันจากหลายทาง กรมศุลกากร จำต้องตรวจตราและเปิดตู้สินค้าตกค้างที่ท่าเรือแหลมฉบังเมื่อเดือนเมษายน 2566 พบหมูเถื่อน 161 ตู้ ปริมาณ 4.5 พันตัน (4.5 ล้านกิโลกรัม) มูลค่า 225 ล้านบาท ทำให้ยอดปราบปรามหมูเถื่อนสะสมพุ่งสูงมากจากปี 2565 ทั้งปีประมาณ 1,350 ตัน ขณะที่ มกราคม 2566 – ปัจจุบัน จับได้มากกว่า 4,600 ตัน…ทำความเสียหายกับประเทศและเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูไทย จากราคาที่ตกต่ำต่อเนื่อง ทั้งที่มีพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 ให้อำนาจเต็มมือ

แม้จะพยายามชี้แจง เรื่องกฎระเบียบการตรวจค้นสินค้านำเข้าที่มีเงื่อนเวลากำหนดไม่ให้เปิดตู้ตรวจสอบจนกว่า ผู้นำเข้าจะมาแจ้งขอนำสินค้าออกจากท่าเรือ หรือตั้งวางตู้สินค้าที่ท่าเรือเกินกำหนดเวลา รวมถึงมีข้อยกเว้นให้กับผู้นำเข้าที่มีประวัติดี สามารถผ่าน Green Line ได้โดยไม่ต้องเปิดตู้สินค้า ทำให้มีการสำแดงเท็จเป็นปลา อาหารทะเล หรือ โพลิเมอร์ ล้วนทำให้การตรวจสอบมีช่องว่าง “หมูเถื่อน” ที่ควรจะจับได้คาท่าเรือจึงเล็ดลอดออกสร้างความเสียหายได้นานกว่า 1 ปี

วันนี้ “หมูเถื่อน” ถูกยกระดับเป็นปัญหาระดับประเทศและเป็นที่จับตาของสังคมกลายเป็น “เผือกร้อน” ของหน่วยงานราชการขณะนี้โดยเฉพาะกรมศุลกากร ที่รุดออกมา “ปฏิเสธ” ไม่มีตู้ตกค้างอีก 1,000 ตู้ตามที่มีการให้ข้อมูล และไม่มีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตใดๆ แต่เป็นการทำงานตามขั้นตอน อย่างไรก็ตาม ผู้เลี้ยงหมูทั่วประเทศยังคงตามติดเพราะหวังจะเห็นภาครัฐกระชากหน้ากาก “ขบวนการค้าหมูเถื่อน” มาลงโทษตามกฎหมาย และปราบทุจริตในหน่วยงานราชการที่ยังรักษาตำนาน “ส่วย” ไว้อย่างเหนียวแน่นให้หมดไป