ส.วิทยาศาสตร์สัตว์ปีกโลก หนุนกระบวนการผลิตที่ยั่งยืน ในงานประชุมใหญ่สามัญประจำปี

สมาคมวิทยาศาสตร์สัตว์ปีกโลก สาขาประเทศไทย (World’s Poultry Science Association Thailand Branch : WPSA THAI) ชี้การขับเคลื่อนด้านความยั่งยืนของอุตสาหกรรมนี้ ต้องมุ่งเน้นความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม การเพิ่มประสิทธิภาพของอุตสาหกรรมสัตว์ปีก ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ให้กับสังคม ชุมชน และเศรษฐกิจโดยรวม มุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)

นายสัตวแพทย์ศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์สัตว์ปีกโลก สาขาประเทศไทย เปิดเผยว่า สมาคมฯ มุ่งมั่นพัฒนาอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ปีกให้สอดคล้องกับมาตรฐานระดับโลก ด้วยการสนับสนุนการพัฒนาและค้นคว้าวิจัยในห่วงโซ่การผลิต ทั้งระบบฟาร์มและอาหารสัตว์ เพื่อลดการสูญเสียในกระบวนการผลิต เช่น การวิจัยและพัฒนาสูตรอาหารให้เหมาะกับการเติบโตของสัตว์ในแต่ละช่วงวัย เป็นนวัตกรรมที่จะช่วยส่งเสริมการทำงานระบบการย่อยอาหารของสัตว์ทั้งกระเพาะอาหารและสำไส้ ให้ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และจะมีส่วนช่วยลดการปล่อยของเสียจากสัตว์ได้ เพิ่มความสมดุลให้กับสิ่งแวดล้อมก้าวตามเป้าหมายของโลกในการเข้าสู่ Net Zero

นายสัตวแพทย์ศักดิ์ชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า สมาคมฯ มุ่งมั่นในการพัฒนาอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ปีกให้สอดคล้องกับมาตรฐานระดับโลก พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารให้ผู้บริโภคทั่วโลก การประชุมและสัมมนาเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมประชุมเข้าถึงข้อมูลด้านวิชาการการผลิตสัตว์ปีก พร้อมเผยแพร่ความรู้ แนวความคิด และติดตามข้อมูลข่าวสาร วิทยาการใหม่ๆ จากผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการและคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ ในอุตสาหกรรมสัตว์ปีก ทั้งยังเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และแบ่งปันประสบการณ์ร่วมกันเพื่อที่จะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมผลิตสัตว์ปีกต่อไป

สำหรับการประชุมใหญ่สามัญ และงานสัมนาวิชาการประจำปี 2566 ในครั้งนี้ มุ่งเน้นความรู้และนวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มศักยภาพในการผลิตสัตว์ปีกที่ยั่งยืน ภายใต้หัวข้อ Precision Poultry Nutrition for Sustainability ที่จะช่วยบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากฟาร์มปศุสัตว์ ซึ่งงานวิจัยพบว่าภาคปศุสัตว์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อการผลิตอาหาร 1 กิโลกรัม มากที่สุดคือ ฟาร์มวัว (99 กิโลกรัม) ฟาร์มแกะเนื้อ ฟาร์มวัวนม ฟาร์มกุ้ง ฟาร์มปลา ฟาร์มหมู และฟาร์มเลี้ยงไก่ (9.9 กิโลกรัม) ตามลำดับ ซึ่งการนำเทคโนโลยีมาใช้จัดการตั้งแต่ต้นทางวัตถุดิบอาหารสัตว์ ส่วนผสม และนวัตกรรมสูตรอาหารสัตว์ จะช่วยทำให้สัตว์สามารถย่อยอาหารได้สมบูรณ์ ลดของเสียในกระบวนการผลิต โดยเฉพาะช่วยลดการปล่อยก๊าซไนโตรเจน ที่มาจากมูลสัตว์ และมีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม ซึ่งผู้ผลิตเนื้อสัตว์และฟาร์มจำเป็นต้องตระหนักในเรื่องเหล่านี้

ประเทศไทยเป็นผู้นำและมีชื่อเสียงด้านอุตสาหกรรมสัตว์ปีกในระดับสากลมาอย่างยาวนาน และการส่งออกสัตว์ปีกของไทยติดอันดับต้นๆ ของโลกมาโดยตลอด เป็นอุตสาหกรรมที่สร้างงานสร้างรายได้ให้กับทุกภาคส่วน ทั้งเกษตรกรและผู้ประกอบการภาคธุรกิจ โดยตัวเลขการส่งออกเนื้อไก่ ปี 2566 ทั้งเนื้อไก่สด และเนื้อไก่แปรรูป ทั้งหมดจำนวน 1.097 ล้านตัน มูลค่ากว่า 1.47 แสนล้านบาท แบ่งเป็นการส่งออกไปประเทศญี่ปุ่นเป็นอันดับ 1 ที่ 42% อันดับ 2 ประเทศอังกฤษ 15% อันดับ 3 กลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) 13% และจีน 11% ขณะที่เนื้อเป็ดทั้งสดและแปรรูป มีการส่งออก ในปี 2566 รวมทั้งหมด 4.79 พันตัน แบ่งเป็นส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น 52% รองลงมาประเทศอังกฤษ และอียู

ทั้งนี้ การศึกษาค้นคว้าวิจัย และพัฒนาด้านเทคโนโลยีการผลิต ทั้งระดับฟาร์ม ระดับโรงงาน และการแปรรูป มีความจำเป็นและสำคัญมากต่อการส่งออก รวมถึงเรื่องการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงพาณิชย์ ทูตเกษตรที่อยู่ในต่างประเทศ เพื่อหาตลาดใหม่ และขยายตลาดให้เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับการแข่งขันที่สูง รวมทั้งสถานการณ์สงครามที่ยืดยื้อ เป็นสิ่งที่ต้องตระหนักและเฝ้าระวัง เพื่อเตรียมพร้อมปรับรูปแบบการผลิตให้ทันต่อสถานการณ์โลก โดยเฉพาะเรื่องการผลิตอย่างยั่งยืน ที่เป็นเทรนด์โลกอยู่ในขณะนี้