รู้เก็บรู้ออม : เตือนภัยเพจปลอมหลอกลงทุน!!

ช่วงหลังๆมานี้มือถือของ “คุณนายพารวย” ได้รับข้อความชักชวนให้ไปลงทุนนู่นนี่นั่น แบบบ่อยมากถึงบ่อยที่สุด ซึ่งหากเราติดตามข่าวสารอยู่ตลอดก็คงจะทราบดีว่า ข้อความชักชวนลงทุนประเภทนี้ เป็นข้อความหลอกลวงทั้งนั้น

กลโกงของมิจฉาชีพออนไลน์ ซึ่งกำลังแพร่ระบาดอย่างหนักอยู่ตอนนี้ จากตัวเลขสถิติการร้องเรียนเรื่องการโดนหลอกลวงให้ลงทุน นับวันมีแต่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ มูลค่าความเสียหายและจำนวนผู้เสียหายที่เยอะขึ้น เรียกได้ว่าโดนหลอกถี่ขึ้น มากขึ้น หลากหลายรูปแบบขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการตั้งเพจปลอม, การใช้ Line กลุ่มเพื่อมาชี้นำการลงทุน, แชร์ลูกโซ่ หรือการลงทุนในผลิตภัณฑ์การเงินต่างๆที่เสนอผลตอบแทนสูงเกินจริง ไม่ว่าจะเป็นเงินสกุลต่างประเทศ, เงินดิจิทัล

เผลอโอนเงินไปเมื่อไร ก็เสร็จโจร กลายเป็นการลงทุนทิพย์ที่สูญเสียเงินและทรัพย์สินไปเปล่าๆแน่นอน

“คุณนายพารวย” ขอให้นักลงทุนสังเกตดีๆถึงรูปแบบและพฤติกรรมที่ต้องสงสัยไว้ก่อนเลยว่าหากมาไม้นี้ จะมาหลอกเอาเงินเราแน่นอน คือ บุคคลหรือบริษัทที่ชวนให้เราลงทุน ไม่ได้รับใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย ร้อยทั้งร้อย หลอกชัวร์ แล้วยิ่งถ้าหลักทรัพย์ หรือสินทรัพย์นั้นตรวจสอบไม่ได้ หรือข้อมูลประกอบการลงทุน ไม่มี หรือมีให้มาแต่ดูแล้วไม่ชัดเจน ไม่น่าเชื่อถือ โอกาสที่จะโดนหลอกยิ่งชัวร์

มิจฉาชีพมักจะล่อให้เราลงทุนด้วยการเสนอให้ตัวเลขผลตอบแทนที่สูงเกินจริง และเร่งให้เราตัดสินใจโอนเงินลงทุนเร็วๆ เพื่อตัดตอนไม่ให้เรามีเวลาคิดไตร่ตรองดีๆ รู้ตัวอีกทีก็ตก

เป็นเหยื่อลงเงินไปกับธุรกิจที่ไม่มีจริงไปเสียแล้ว

และอีกลักษณะหนึ่งที่อยากให้นักลงทุนต้องเอะใจ คือ ถ้าชื่อบัญชีธนาคารที่จะให้เราโอนเงินไปลงทุน เป็นบัญชีบุคคลธรรมดา ก็เสี่ยงต่อการโดนหลอกเช่นกัน เพราะไม่ต่างอะไรกับการโอนเงินเราไปเข้าบัญชีใครก็ไม่รู้ ซึ่งคนที่ได้รับโอนไปจะถอนไปตอนไหนก็ได้เราก็ไม่รู้

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ทราบถึงปัญหานี้ และตระหนักถึงความเสียหายที่อาจเกิดกับนักลงทุน จึงได้ทำหน้าที่สร้างเสริมและกระตุ้นภูมิคุ้มกันภัยการเงินออนไลน์ให้กับนักลงทุนทุกคนอย่างเร่งด่วน เพราะนักลงทุน จะหน้าเก่า หรือหน้าใหม่มีสิทธิโดนหลอกด้วยกันทุกคน โดยเมื่อเร็วๆนี้ ได้เผยแพร่ความรู้ “4 ไม่” เพื่อป้องกันเพจปลอมหลอกลงทุน เพื่อเตือนนักลงทุนให้ระมัดระวังการลงทุน หากพบเจอพฤติกรรม หรือรูปแบบที่เข้าข่ายว่าจะเป็นมิจฉาชีพชักชวนให้ลงทุน นั่นคือ

1.ไม่ลงทุนตามคำชักชวน โดยไม่ตรวจสอบความน่าเชื่อถือ ระวังการแอบอ้างบุคคลที่มีชื่อเสียง 2.ไม่หลงเชื่อการอ้างผลตอบแทนที่สูงเกินจริง 3.ไม่รีบร้อน ต้องตรวจสอบตัวตนบริษัทก่อนลงทุน โดยตรวจสอบรายชื่อผู้ให้บริการและบุคคลเกี่ยวกับการลงทุนในหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตได้ที่ www.sec.or.th 4.ไม่โอนเงินเข้าบัญชีบุคคลธรรมดา

คุณนายพารวยมั่นใจว่าถ้าทำตามคาถา “4 ไม่” นี้แล้ว จะช่วยป้องกันตัวเราไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ โดนหลอกให้เสียเงิน จนต้องเสียใจในภายหลังกันนะเจ้าคะ!!

คุณนายพารวย

ที่มา คอลัมน์ รู้เก็บรู้ออมรู้ใช้รู้ลงทุน..สู่ความมั่งคั่ง หน้าเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ