ปริมาณการผลิตหน้ากากอนามัยในไทยมีเหลือเฟือ

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ขณะนี้ การผลิตหน้ากากอนามัยของไทยเพิ่มขึ้นมาก อยู่ที่วันละประมาณ 4.2 ล้านชิ้น เนื่องจากมีโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยตั้งใหม่หลายแห่ง โดยล่าสุด มีโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยที่ได้มาตรฐาน และจำหน่ายให้กับรัฐทั้งหมด 16 ราย ทั้งนี้ในจำนวน 4.2 ล้านชิ้นที่ผลิตได้ต่อวัน รัฐรับซื้อวันละ 3 ล้านชิ้น เพื่อนำมาจัดสรรให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) 1.8 ล้านชิ้น และกระทรวงมหาดไทย (มท.) 1.2 ล้านชิ้น ขณะเดียวกัน วัตถุดิบสำคัญ โดยเฉพาะเมลท์โบลน (แผ่นกรอง) สามารถหาซื้อได้ง่ายขึ้น และมีราคาถูกลง เพราะผู้ผลิตรายใหญ่ เช่น จีน กลับมาส่งออกมากขึ้น

วิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน

ปริมาณการผลิตที่ดีขึ้น รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทยเริ่มดีขึ้น ส่งผลให้มีหน้ากากอนามัยส่วนเกินมากถึงวันละ 1.2 ล้านชิ้น ดังนั้น คณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงมีมติให้กรมการค้าภายใน หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หาแนวทางบริหารจัดการให้เหมาะสม

จากการหารือกับทั้งกรมบัญชีกลาง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข เห็นตรงกันว่า รัฐจะรับซื้อหน้ากากอนามัยส่วนเกินวันละ 1.2 ล้านชิ้น เพื่อนำมาขายให้กับหน่วยงานที่มีความจำเป็นต้องใช้ในราคาต้นทุน เช่น บริษัท การบินไทย, สายการบินต่างๆ, สำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (สตม.), ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) ฯลฯ ส่วน 3 ล้านชิ้นที่จัดสรรให้กระทรวงสาธารณสุข และมหาดไทย ได้รับแจ้งว่า ขณะนี้ สาธารณสุขมีสต๊อกตุนไว้เกิน 1 เดือนแล้ว ส่วนจังหวัดต่างๆ ก็มีสต๊อกไว้มากแล้ว

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการเฉพาะกิจเกี่ยวกับการบริหารจัดการพัสดุสำหรับการป้องกัน ควบคุม หรือรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้เสนอให้คณะกรรมการเฉพาะกิจฯ ปรับเปลี่ยนวิธีการจัดซื้อหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ใหม่ จากการรับซื้อจากโรงงานทุกวัน ชิ้นละ 4.28 บาท มาเป็นวิธีการประมูล ทำให้การซื้อเดือนมิ.ย. ซื้อได้ในราคาต่ำลงที่ชิ้นละ 4-4.15 บาท ส่วนเดือนก.ค. เหลือเพียง ชิ้นละ 3.65 บาท คาดว่า ราคาในเดือนส.ค.นี้จะต่ำลงอีก

สำหรับการส่งออกหน้ากากอนามัย คณะกรรมการเฉพาะกิจฯ ได้เห็นชอบให้ต่ออายุการห้ามส่งออกต่อไปอีกจนถึงวันที่ 3 ก.พ.64 จากกำหนดเวลาเดิมคือ สิ้นเดือนมิ.ย.63 ยกเว้นหน้ากากอนามัยเฉพาะ เช่น หน้ากากป้องกันสารเคมี, หน้ากากอนามัยที่มีลิขสิทธิ์ ผลิตภายใต้แบรนด์เนมของผู้ว่าจ้าง, โรงงานได้รับการส่งเสริมการลงทุน จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้ผลิตเพื่อส่งออก, ส่งออกไปให้สถานทูตไทยในประเทศต่างๆ